มหาสติปัฏฐานมีทั้งในพระสูตรและพระอภิธรรม


    ขอกล่าวถึง มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาโดยตรงจากพระสูตร ความจริงเรื่องของสติปัฏฐานนั้นมีอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก ทั้งในทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย และทั้งในอภิธรรมปิฎกด้วย ในทีฆนิกายเป็นสูตรที่ยาวกว่าในสูตรอื่น ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตรมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในแคว้นกุรุ มีนิคมหนึ่งของแคว้นกุรุ ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงซึ่งความโศก และปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    จบ อุทเทสวารกถา

    อุทเทสวารกถา หมายความว่า ข้อความเบื้องต้นเป็นข้อความโดยย่อ ยังไม่ใช่คำอธิบายโดยละเอียด


    หมายเลข 2178
    31 ก.ค. 2567