เห็นกายในกายภายใน - ภายนอก
ถ้าท่านเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็คงจะไม่สงสัยข้องใจว่า ธรรมชาติใดๆ ก็ตามที่มีจริงเป็นเครื่องให้สติระลึกรู้ลักษณะสภาพนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงได้ทั้งสิ้น ไม่ยับยั้งปัญญาว่า อย่ารู้ รู้ไม่ได้ ไม่ควรจะรู้ นั่นไม่ใช่เรื่องของการเจริญปัญญา แต่เป็นเรื่องของอวิชชา พอกพูนอวิชชาไม่ให้รู้สิ่งนั้นไม่ให้รู้สิ่งนี้ เมื่อไม่รู้ จะละความไม่รู้ซึ่งเคยมีมามากได้อย่างไร ก็ยังคงไม่รู้ต่อไป
เพื่อที่จะขยายความในมหาสติปัฏฐาน ขอกล่าวถึง พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๔ วิภังคปกรณ์ ภาค ๒ สติปัฏฐานวิภังค์ ซึ่งเป็นการขยายมหาสติปัฏฐานให้ละเอียดขึ้น ในสติปัฏฐานวิภังค์ที่ว่า เราทุกคนมีกาย และการเจริญสติระลึกที่กาย และเห็นกายในกายนั้นคืออย่างไร คำอธิบายมีว่า
เห็นกายในกาย คือ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องต่ำ
เว้นส่วนหนึ่งส่วนใดไหม ไม่เว้น นอกจากนั้นในสติปัฏฐานวิภังค์ยังได้กล่าวถึงการเห็นกายในกายที่เป็นภายใน คือ ที่ตน กับ ที่เป็นภายนอกคือที่บุคคลอื่น ก็เป็นเครื่องให้สติระลึกได้
เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานสูตร ชื่อก็บอกแล้ว กว้างขวางมาก ทุกสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ สามารถจะเป็นเครื่องให้สติระลึกได้ทั้งสิ้น กายของตนเองตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องต่ำ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้สติระลึกได้ ถ้าได้ฟังได้เข้าใจ ก็สามารถระลึกได้ถูกต้อง นอกจากนั้น กายของคนอื่นสามารถที่จะทำให้สติเกิดขึ้น ระลึกถึงความเป็นอสุภะ ความเป็นปฏิกูล ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา สติจะเกิดได้ไหมในเมื่อสิ่งนั้นมี จะห้ามสติไม่ได้ มิฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของมหาสติปัฏฐาน แต่เป็นเรื่องของสติปัฏฐานที่แคบมาก จำกัดมาก แต่มหาสติปัฏฐานกว้างมาก และเป็นข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ควรที่จะศึกษาด้วยความละเอียดว่า เมื่อเห็นบุคคลอื่นท่านสามารถระลึกได้ไหม อย่างที่กายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง สติเกิดจะระลึกขึ้นมาที่ผมได้ไหม ก็ได้ ผมคนอื่นได้ไหม ก็ได้ เล็บของตัวเองได้ไหม ก็ได้ เล็บคนอื่นได้ไหม ก็ได้อีกเหมือนกัน และการระลึกนั้นเป็นกุศล สามารถที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่อไปได้ เพราะฉะนั้น อย่าจำกัดสติให้แคบ
ที่ว่า สำหรับหนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก คงจะไม่มีความสงสัย