สติปัฏฐาน กับ ความเพียร
และที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
ไม่ได้ระลึกได้บ่อยเลยในวันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่กายไม่เคยห่าง ไม่ว่าจะไปที่ไหน นั่งที่ไหน นอนที่ไหน ยืนที่ไหน เดินที่ไหน ก็มีกายอยู่ตลอดเวลา แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ระลึก เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย จึงต้องอาศัยความเพียร ความเพียรที่นี่ไม่ใช่ความเพียรที่ไปทำให้ผิดปกติ ไม่ใช่ความเพียรจดจ้องเพื่อจะให้รู้การเกิดดับตามความต้องการ แต่เพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กาย ถ้าเป็นในหมวดของกาย ก็ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏที่กายบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้น มากขึ้น ตลอดชีวิตจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด
ที่ว่า เป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบ เป็นความเพียรอย่างยิ่งนั้น คือเพียรทุกขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์ ความเพียรทุกๆ ขณะนี้ตลอดชีวิตทีเดียว เมื่อจะต้องเพียรกันตลอดชีวิตอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นความเพียรอย่างยิ่ง ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่เพียง ๑๐ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน แต่ต้องเป็นความเพียรเรื่อยๆ เนืองๆ บ่อยๆ ที่จะรู้สิ่งที่ไม่ไกลเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางหู กำลังได้ยิน สิ่งที่กำลังปรากฏทางจมูก กำลังได้กลิ่น มีความเพียรอย่างนี้ชื่อว่า เป็นความเพียรอย่างยิ่ง และกว่าจะรู้ได้ จะนานไหมที่จะประจักษ์การเห็นที่กำลังเห็นนี้ว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เสียงที่ปรากฏเกิดแล้วก็ดับ เสียงเกิดขึ้นปรากฏมีลักษณะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยิน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ได้ยินลักษณะอีกชนิดหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ การรู้เรื่องของความหมายนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความชอบความไม่ชอบเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป ต้องเป็นความเพียรอย่างยิ่งจริงๆ