ศึกษาธรรมแต่ขัดกับทางโลกจะคิดอย่างไร


    อ.กุลวิไล สำหรับคำถามทางอินเทอร์เน็ตมีว่า เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกเป็นสิ่งที่ยับยั้งความทะเยอทะยานในกิจการงานทางโลก ซึ่งจำเป็นต้องประกอบอาชึพเพื่อเลี้ยงชีพตน และครอบครัว บางครั้งในระบบงานหรือองค์กรจะมีการส่งเสริมให้คิดเพื่อให้ได้สิ่งที่โลกยอมรับ เช่น รายได้มากๆ เกื้อกูลให้คนที่ทะเยอทะยานอยากได้บ้าน รถ พักผ่อนท่องเที่ยวต่างประเทศ บางรายเก็บเงิน เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกขัดแย้งกับการศึกษาธรรม ซึ่งให้ละ แต่บางโอกาสหากไม่คิดถึงความอยากทางโลก ก็จะไม่สามารถนำครอบครัวประสบกับสิ่งที่ปรารถนา หรือเป็นอยู่อย่างสุขสบาย กระผมควรคิดอย่างไร รู้สึกสับสนในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ควรคิดอย่างไร และจะเอาปัจจัยที่ไหนมาให้คิดอย่างที่ควร ถ้าไม่ได้สะสมมา อีกประการหนึ่งถ้าได้สิ่งต่างๆ ที่ปรารถนามา เป็นไปได้ไหม แม้ว่าฟังธรรม ไม่ได้หรือคะ ชีวิตของทุกคน ทุกวันนี้จะได้เหมือนกับที่เขาคิดว่า เขาทะเยอทะยานจึงได้ แต่ความจริงแม้ไม่ทะเยอทะยานก็ได้ เข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ใช่จะได้เพราะเขาต้องทะเยอทะยาน แต่จริงๆ แล้วเรื่องของกรรมกับผลของกรรม แม้ไม่ทะเยอทะยาน นั่งเฉยๆ ก็ได้ ถ้ามีเหตุสมควรแก่ผลที่จะเกิดขึ้นที่จะได้

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ทุกอย่างแม้แต่การเห็น ไม่มีใครบังคับว่า จะเห็นอะไร การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มาตามกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็อาจจะไหลมา เทมา ยับยั้งไม่หยุดก็ได้ ไม่ต้องไปคิดว่า เพราะทะเยอทะยานจึงได้มา แต่ความสำคัญก็คือว่า ไม่ว่าจะได้อย่างไร ต้องรู้ว่า มีความติดข้องในสิ่งนั้นหรือเปล่า ถ้าได้เพราะรู้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่จิตใจไม่ได้ผูกพันติดข้องในสิ่งนั้น รู้ว่าเป็นเรื่องของกรรม ถ้าจะสูญเสียไปก็เป็นเรื่องของกรรมอีก เป็นเรื่องของเหตุที่จะต้องทำให้เกิดอย่างนั้น เหตุนั้นจึงทำให้ผลอย่างนั้นเกิดขึ้น ถ้าเข้าใจจริงๆ อย่างนี้ แล้วทำกิจการงานเป็นปกติ เพราะมีใครที่ไม่มีโลภะ พระอรหันต์ที่ไม่มีเลย ใครที่ไม่มีโลภะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระอนาคามี ก็ยังไม่ถึงทั้งนั้น แล้วไปกังวลอะไร ไปคิดว่าตัวเองมีความทะเยอทะยาน อยากได้ ต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ถึงจะอย่างไรก็ตามแต่ จะฟังธรรมหรือไม่ฟังธรรม ที่ไม่ทะเยอทะยานก็ไม่ทะเยอทะยาน บางคนที่ทะเยอทะยานมีเหตุปัจจัยที่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เขาจะค่อยๆ คลายอกุศลนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่มีโลภะ เขามีตามปกติ แล้วเข้าใจของโลภะด้วย และรู้ว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีอกุศล มีโลภะอยู่ ซึ่งเขาได้พิจารณาเห็นแล้วว่า โลภะนำมาซึ่งทุกข์คือการเกิด

    เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ใครมาศึกษาธรรมแล้วกลายเป็นอีกคนหนึ่ง แล้วอะไรก็ไม่รู้ แต่ตามความเป็นจริงแล้วคือเป็นเก่าตามปกติที่เคยสะสมมา แต่เพิ่มเหตุใหม่ คือเพิ่มปัญญา ความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาว่า ปัญญารู้ทุกข์ แต่ไม่ได้เป็นทุกข์เพราะปัญญา ถ้าเข้าใจถูกต้องในพระธรรมที่ทรงแสดง ก็จะเห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และเห็นเหตุ และปัจจัยของสภาพธรรม ก็จะเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่ปรากฏ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นผู้รู้ว่า อกุศลเป็นอกุศล และอบรมเจริญปัญญาละอกุศลตามลำดับ คือละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก่อนอื่น

    คงเข้าใจผิดกันมากเลยว่า ศึกษาธรรม แล้วจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ และจะทำอย่างไรก็ไม่รู้ ก็เป็นธรรมดา เป็นปกติ แล้วแต่อัธยาศัย อะไรจะเกิดก็เกิด เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่าจะทำ แต่สิ่งที่มีแล้วเดี๋ยวนี้เกิดแล้ว ไม่ต้องไปสนใจเลยกับเรื่องที่จะทำ เพราะทำไม่ได้ ทุกอย่างเกิดแล้ว แม้แต่ความคิดก็เกิดแล้วที่จะคิดอย่างนี้ แต่ละคำที่จะพูดก็มาจากการสะสมที่ทำให้มีความคิดอย่างนี้ จึงเปล่งวาจาอย่างนี้ ถึงจะไม่เปล่งวาจา ไม่มีคำพูดอะไรเลย แต่ความคิดก็มีตามการสะสม

    ผู้ฟัง ขออนุญาตมีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับอาจารย์สักนิดครับ ความทะยานอยากของแต่ละบุคคลสมัยปัจจุบัน คือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ถ้าหากว่าไม่ขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โอกาสที่จะประกอบอาชีพที่ดีก็น้อยลง

    ท่านอาจารย์ แล้วใครขวนขวาย ใครไม่ขวนขวายเพราะอะไร

    ผู้ฟัง คือทุกสิ่งเป็นไปตามกรรม สรุปแล้วกรรมคือความเป็นใหญ่ ทีนี้ความขวนขวายของแต่ละคนใช้เป็นปัจจัยในการประกอบอาชีพ คงขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคนที่มีอยู่

    ท่านอาจารย์ คนขวนขวายกับคนไม่ขวนขวาย หรือจะพูดว่า ความขวนขวายกับความไม่ขวนขวาย เกิดจากอะไร ที่คนจะขวนขวายหรือไม่ขวนขวายเกิดจากอะไร

    ผู้ฟัง เกิดจากกรรม

    ท่านอาจารย์ เกิดจากการสะสม อัธยาศัยที่สะสมมา นั่งอยู่ตรงนี้ก็เกิดหิว นั่งอยู่กัน ๓ คน คนเรียนธรรมไม่ขวนขวายหรือคะ นั่งนิ่งๆ หรือไง

    ผู้ฟัง ก็ต้องขวนขวาย

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาแล้วแต่การสะสม แม้แต่ความคิด อย่าให้ผิดปกติ อย่าให้มีตัวเราที่จะไปทำให้ผิดปกติ อะไรที่เกิดแล้ว เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่คิด ก็เกิดแล้วที่จะคิดอย่างนี้ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง คำถามนี้ผมว่าขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ถ้าหากไม่ขวนขวายก็คงต้องบอกว่า ขวนขวายด้านไหน

    ท่านอาจารย์ พระธรรมสอนให้ขยันหรือเปล่าคะ มีข้อความในพระไตรปิฎกสอนให้ขยันหรือเปล่าคะ แล้วไงคะ คนที่ศึกษาธรรมแล้วไม่ทำตาม หรืออย่างไร ต้องศึกษาให้ละเอียดแล้วเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปฝืน ไปเข้าใจผิด

    คุณประเชิญมีอะไรเพิ่มเติมไหมคะ

    อ.ประเชิญ ผู้ศึกษามีหลายขั้น ผู้ศึกษาใหม่ๆ จะมีลักษณะเหมือนท่านที่ถาม พระพุทธองค์เหมือนจะสอนให้ละทุกอย่าง อย่างในพระสูตรทั้งหลายที่ให้ละหมดเลย รูปที่เป็นภาระก็ให้ละ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ให้ละ ท่านสอนให้ละ ให้คลาย ไม่ให้ติด

    ผู้ฟัง ก็อาจจะไม่เข้าใจว่า ในฐานะของตัวเองในเพศคฤหัสถ์ที่มีภาระหน้าที่จะต้องทำ จริงๆ แล้วอยู่ในเพศนี้ก็สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ แต่

    ผู้ฟัง จะทำเหมือนพระภิกษุที่ละทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ต้องสะสมขวนขวาย ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะคำสอนบางครั้งสอนสำหรับบรรพชิต อีกอย่างหนึ่งการละทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างเพศคฤหัสถ์ต้องทำมาหากิน ต้องเก็บหอมรอมริบ และต้องใช้ให้เหมาะสม

    เพราะฉะนั้น ตรงนี้ถ้าไม่เข้าใจอุปนิสัยหรืออัธยาศัยของตนเองจริงๆ ก็อาจจะสับสน

    ท่านอาจารย์ แล้วบรรพชิตขวนขวายด้วยหรือเปล่าคะ หรือว่านั่งเฉยๆ อีกเหมือนกัน กิจของบรรพชิตก็มี ก็ต้องทำกิจของบรรพชิตด้วย กิจของคฤหัสถ์ก็มี ก็ทำกิจของคฤหัสถ์ แล้วอย่างไรคะ ก็สิ่งที่มี มีแล้วหรือเปล่า หรือไปขวนขวายทำให้มีขึ้น เห็น เดี๋ยวนี้มีแล้ว ใครไปขวนขวายขึ้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างถ้าคิดถึงจิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นทำกิจอะไรบ้าง ขณะที่เป็นภวังค์ ก็ไม่ได้ขวนขวายจะเป็นภวังค์ ขณะที่เป็นวิถีจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นก็ไม่ได้ขวนขวาย ไม่มีใครไปทำให้ขวนขวาย แต่สภาพธรรมแม้แต่โลภะที่เกิด ก็ไม่มีเราอีกต่างหากที่ไปทำ แต่มีการสะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ มีความติดข้องอยู่

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ต้องรู้ความจริง ไม่ใช่ว่าอยู่ไปวันๆ แล้วก็ไม่รู้ไปตลอดทุกวันๆ จนตายไป ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังปรากฏ

    ในพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้รู้ถูก เห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังเป็นอารมณ์ คือในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็จะละการไม่รู้ และดีหรือเปล่า เกิดมาด้วยความไม่รู้ และสามารถอบรมเจริญจนกระทั่งละความไม่รู้ ไม่ใช่ไปละสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะละไม่ได้ ละรูป ละไม่ได้ ละเสียง มีใครละได้ ละกลิ่น ละรส ละโผฏฐัพพะ ละไม่ได้เลย แต่ละความติดข้อง ความไม่รู้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นประโยชน์ใช่ไหมคะ

    อ.ประเชิญ แต่ทีนี้ประโยคก่อนนั้น ท่านอาจารย์กล่าวว่า ทุกอย่างปกติ แต่ให้รู้ ตรงนี้จะสำคัญ คือถ้าไม่เข้าใจแล้วไปเปลี่ยนอีกชีวิตหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วมีหน้าที่ที่จะต้องทำ อย่างมีบิดามารดาที่ต้องดูแล ต้องปรนนิบัติ เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ คิดว่า เปลี่ยนหมดไม่ต้องดูแลหรือไงคะ สงสัย ทำอะไรก็ไม่รู้ ต้องเป็นธรรมดา ต้องไม่เข้าใจผิด ฟังธรรมต้องเข้าใจถูก เป็นปกติ แม้แต่สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานก็เป็นผู้ที่มีปกติรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏด้วย ไม่ใช่ยังไม่เกิด แล้วตามไปทำให้เกิดขึ้น อยากให้เกิดก็ทำให้เกิด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่สิ่งใดที่มีแล้ว เกิดแล้ว กำลังปรากฏแล้ว รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ


    หมายเลข 2206
    28 ก.ค. 2567