เห็นที่ถูกต้องคือเห็นอย่างไร
ผู้ฟัง เห็นที่ถูกต้องคือเห็นเป็นรูปท่านอาจารย์ เห็นเป็นสี เห็นเป็นแสง เห็นเป็นตัวบุคคล เห็นเป็นโต๊ะ เห็นอย่างไรถึงเรียกว่าเห็นถูก
ท่านอาจารย์ นี่คือความละเอียดของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้แต่เรื่องเห็น บางคนก็ผ่านไป เห็นก็เห็นทุกวันจนตาย ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปัญญาก็ไม่เกิด แต่ถ้าเข้าใจก็คือเริ่มสนใจรู้ความจริงของเห็น ก็ต้องฟังมากๆ ทีเดียวในเรื่องของเห็น แล้วต้องพิจารณาด้วยตัวเองให้เป็นความเข้าใจของตัวเองจริงๆ เห็นมีจริง สิ่งที่ถูกเห็นมีด้วย
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกเห็น ทางภาษาธรรมใช้คำว่า “รูปารมณ์” อะไรก็ตามที่จิตกำลังรู้ สิ่งที่ถูกรู้เป็นอารัมมณะ หรือเป็นอารมณ์ของจิต อารมณ์ของจิต ทางหู เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิต เพราะว่าจิตได้ยินเสียง รู้เสียง เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นอารมณ์ แต่เมื่อมีอารมณ์ ๕ อย่าง ก็จำแนกไปทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏ ภาษาบาลีเรียกว่า “รูปารมณ์” หรือจะออกเสียงให้ถูกต้องจริงๆ ก็เป็นรูปารัมมณะ ถ้าทางหู เสียงเป็นสัททะ ก็สัททารมณ์ เสียงในป่าก็ไม่ต้องพูดถึง เสียงข้างนอกก็ไม่ต้องพูดถึง เมื่อมีเหตุปัจจัย เสียงก็ต้องเกิด แต่เสียงใดก็ตามที่จิตไม่ได้ยิน ไม่ใช่อารมณ์ของจิตในขณะนั้น เสียงใดก็ตามที่จิตได้ยิน เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ คือ สัททะ กับอารัมมณะ รวมเป็นสัททารมณ์ เช่นในขณะนี้ เสียงที่ถูกได้ยิน หรือจิตกำลังได้ยินเป็นสัททารมณ์ ทางจมูก กลิ่นเป็นคันธารมณ์ รสเป็นรสารมณ์ และกายเป็นโผฏฐัพพารมณ์
เรื่องชื่อ ถ้าไม่สนใจก็ไม่เป็นไร ใช้ภาษาอะไรก็ได้ อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า พูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ
เพราะฉะนั้น ทางตาเป็นโลกที่ยากจะรู้ความจริง เพราะเคยเห็นจนกระทั่งเหมือนกับมีคน มีสัตว์จริงๆ ในสิ่งที่เห็น แต่จะขอเปรียบเทียบอุปมาว่า ทุกคนส่องกระจกทุกวัน วันนี้มีใครยังไม่ได้ดูกระจกบ้าง มีไหมคะ เห็นใครในกระจก
ผู้ฟัง เห็นรูปตัวเองครับ
ท่านอาจารย์ มีตัวเองจริงๆ ในกระจกไหมคะ
ผู้ฟัง ในกระจกไม่มี
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เห็น เหมือนข้างในนั้นเป็นเราแท้ๆ เลย ลืมคิดถึงตัวนี้ด้วยซ้ำไป ดูทุกอย่างที่อยู่ในกระจก แล้วพินิจพิจารณาทุกอย่าง แล้วมีความรู้สึกว่า “เรา” ตลอดเวลา ฉันใด ถ้ากระทบสัมผัสกระจก เป็นอย่างไรคะ ขณะที่มีเราอยู่ในกระจก ลองไปลูบดู หรือจับดู เป็นอย่างไรคะ แข็ง ฉันใด ขณะนี้คิดว่ามีใครตั้งหลายคน มีอะไรๆ อยู่ในห้องนี้ทั้งหมด แต่ลองกระทบสัมผัสเพียงแข็ง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง ซึ่งต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจว่า สภาพธรรมนี้เป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ต้องแยกสิ่งที่ปรากฏออกจากความคิดนึก เพราะเหตุว่าทันทีที่เห็น คิดนึกถึงสิ่งที่เห็น ทันทีที่เสียงกระทบหูได้ยิน คิดนึกถึงเสียงสูงต่ำที่ได้ยิน และความหมายเป็นคำๆ รู้เรื่องเลย เหมือนกับแยกออกจากกันไม่ได้เลยระหว่างเสียงกับรู้เรื่อง ไม่ว่าใครจะพูดภาษาอะไร ถ้ารู้ภาษานั้นก็สามารถเข้าใจความหมายของคำนั้นๆ ได้
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่ได้แยกโลกทางตาออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางหูออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางจมูกออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางลิ้นออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางกายออกจากทางใจ เพราะเหตุว่าโลกมี ๖ โลก ทางตาเพียงเห็น เห็นอย่างเดียว ทางหูก็เพียงได้ยินเสียงเท่านั้น ไม่ได้คิดนึกอะไรทั้งสิ้น ทางจมูกเวลากลิ่นกระทบ ทันทีที่กลิ่นกระทบจะได้กลิ่นเท่านั้นเอง หมดแล้วโลกนั้นคือโลกทางจมูก เฉพาะได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังบริโภคอาหาร ลิ้มรส ถ้าเอาอาหารมาวางบนโต๊ะ เอามือจับ กำลังปอกมะม่วง ไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย จนกว่ารสนั้นจะกระทบชิวหาปสาทรูปที่อยู่กลางลิ้น และจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยลิ้นลิ้มรสต่างๆ ซึ่งวิจิตรมาก รสผลไม้รสข้าว รสเนื้อ รสปลาต่างๆ เหล่านี้ จิตเป็นสภาพที่รู้รสโดยลิ้มรสต่างๆ นั้น แยกออกไปจากโลกของความนึกคิด ไม่มีปลา ไม่มีเนื้อ ไม่มีอะไร ขณะที่จิตกำลังลิ้มรส มีรสเท่านั้นปรากฏ แล้วหลังจากนั้นก็เป็นโลกของความนึกคิดเรื่องปลา เรื่องผัก เรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องอาหารที่ปรุงมารสชาติต่างๆ
ทางกายเวลากระทบสัมผัส จะมีความรู้สึกเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แต่หลังจากนั้นก็คิดนึกเรื่องของเสื้อผ้าแพรพรรณต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ตาไม่เห็นสิ่งต่างๆ หูก็ไม่ได้ยินเสียง จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่ได้ลิ้มรส กายก็ไม่ได้กระทบสัมผัส แต่ใจคิดนึกทุกเรื่องตามที่เคยจำไว้
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องแยกออกจากกัน เวลาที่เราแยกออกห่างกัน เช่น คิดถึงเรื่องเมื่อวานนี้ ใครไปที่ไหนมา อาจจะเห็นไฟที่ประดับตามถนน จะเป็นที่ไหนก็แล้วแต่ คิดนึกได้แม้ไม่เห็น แต่ถ้าไม่เห็นจะคิดได้ไหม ก็คิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นแล้ว เราก็สามารถจำแล้วก็คิดนึกถึงเรื่องที่เห็นต่อ ถ้าความคิดกับสิ่งที่เห็นใกล้ชิดกันมาก เราไม่รู้เลย เรารู้เหมือนกับว่าเราเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ทันที แต่ตามความจริงถ้าเราแยกออกให้ห่างกัน คือ เห็นเท่านั้น เพียงลืมตาแล้วก็เห็น ยังไม่เป็นอะไรหมด แล้วหลังจากนั้นก็คิด จะเรียกเห็นตรงนี้ว่าอะไรคะ แล้วจะเรียกได้ยินตรงนั้นว่าอะไร ก็จำเป็นต้องสมมติชื่อ แต่ให้เข้าใจว่า ชื่อเป็นเพียงสมมติให้รู้ความจริงว่า ขณะที่เห็นเกิดที่นี่ เรียกชื่อนี้ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิดที่นี่ ก็เรียกชื่อนี้ ถ้าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิดที่นั่น ก็เรียกเสียว่าชื่อนั้น
เพราะฉะนั้น เราจะเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า สมมติ หรือบัญญัติ ว่าเป็นเพียงแต่ชื่อที่เรียกสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจความหมาย