ปัญญามีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดปัญญา


    ผู้ฟัง ปัญญามีลักษณะอย่างไร และอะไรเป็นเหตุให้ปัญญาสามารถเกิดได้ และปัญญาได้เร็วเหมือนดอกไม้บานไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนค่ะ

    ผู้ฟัง แล้วอีกข้อหนึ่ง เหตุอะไรที่ทำให้เกิดปัญญา อย่างเมื่อกี้นี้ท่านอาจารย์พูดถึงสติ เราต้องทำเหตุอย่างไร สติถึงเจริญ

    ท่านอาจารย์ เรื่องจะทำเหตุ หรืออะไรๆ ขอให้ทิ้งไปเลย ให้เกิดความเข้าใจเสียก่อน อย่างที่ถามว่า ปัญญามีลักษณะอย่างไร ปัญญาต้องเป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน เพราะเราใช้คำนี้บ่อยๆ แต่เวลาที่เราพูดถึงปัญญา เหมือนกับเรารู้ เราเข้าใจแล้ว แต่ความจริงยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ เราขอยืมคำภาษาบาลีมาใช้ตามใจชอบในภาษาไทย ต่อเมื่อไรที่เราเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา เราถึงจะรู้ว่า ปัญญาในพระพุทธศาสนา คือ สภาพที่สามารถรู้ เข้าใจธรรมทั้งหลายถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ นั่นคือปัญญา เช่น สภาพธรรม ไม่ว่าจะมีมากมายสักเท่าไรก็ตาม ในโลกนี้ นอกโลกนี้ สามารถจำแนกหรือแบ่งออกเป็นลักษณะใหญ่ๆ ๒ ลักษณะ คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า รูปะ หรือรูปในภาษาไทย หมายความถึงสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น สิ่งที่แข็ง เราจะไปกระทบสัมผัสอย่างไร ลักษณะที่แข็งไม่สามารถจะรู้เลยว่า มีสิ่งที่แข็งมากระทบ สภาพใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ อย่างรส รสมีลักษณะหวาน แต่รสก็ไม่ได้รู้ตัวเองว่า รสหวาน คือไม่ได้มีลักษณะรู้อะไรทั้งนั้น นั่นเป็นรูปธรรม

    สำหรับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เช่นขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วรู้ว่าแข็ง มีอาการรู้ในลักษณะที่แข็ง นั่นคือสภาพรู้ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า นามธรรม หรือนามะ

    เพราะฉะนั้น แยกธรรมออกเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมฝ่ายหนึ่ง รูปธรรมฝ่ายหนึ่ง แค่นี้ก็ไม่ยากเกินไปที่เราจะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วพิสูจน์ได้ทันที สามารถฟัง และพิจารณา และพิสูจน์ แล้วคิด ถ้ารู้คำจำกัดความของลักษณะของรูปธรรม คือสภาพที่มีจริง แต่สภาพนั้นไม่รู้อะไรเลย ส่วนนามธรรมเป็นสภาพรู้

    ทุกคนถามตอบกันได้แล้วใช่ไหมคะ เสียงเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง เสียงเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ กลิ่น

    ผู้ฟัง กลิ่นก็เป็นรูปครับ

    ท่านอาจารย์ รส

    ผู้ฟัง รสก็เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ แข็ง

    ผู้ฟัง แข็งก็เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ง่วง

    ผู้ฟัง ง่วงเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ง่วงเป็นนามธรรม โต๊ะนี่ไม่ง่วง โต๊ะนี่ไม่อิ่ม โต๊ะนี่ไม่หิว โต๊ะนี่ไม่เจ็บ โต๊ะนี่ไม่ปวด

    ลักษณะที่จำ เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ วิธีที่จะเทียบง่ายๆ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เป็นรูปธรรม แต่สภาพอื่นนอกจากนั้นทั้งหมด ความรู้สึกเป็นสุข เป็นนามธรรม ความรู้สึกเป็นทุกข์ก็เป็นนามธรรม ความจำก็เป็นนามธรรม ปัญญาก็เป็นนามธรรม แต่ต่างจากความรู้สึก ความรู้สึกจะจำอะไรไม่ได้เลย รู้สึกนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความจำก็ได้แต่จำอย่างเดียว ทำอะไรไม่ได้ พอเห็นก็จำ ได้ยินก็จำ ได้กลิ่นก็จำ มีหน้าที่จำอย่างเดียว จำทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นคือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า สัญญาเจตสิก

    สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดกับจิต และมีลักษณะหน้าที่การงานต่างๆ ออกไปเป็นแต่ละอย่าง เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ว่าก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่สามารถรู้ และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ อย่างได้ยิน รู้เสียงอย่างเดียว แต่ปัญญาสามารถรู้ว่า สภาพได้ยินเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้เสียง การรู้อย่างนี้เป็นหน้าที่ของปัญญา แต่รู้เท่านี้ยังอ่อนมากที่สุด เป็นปัญญาเล็กน้อยที่สุด นิดเดียวทำอะไรไม่ได้ ดับกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาเพียงขั้นการฟัง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นนี้จะละความไม่รู้ จะละความสงสัยจากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเท่านั้นเอง แต่ยังดับกิเลส หรือยังทำอะไรไม่ได้เลย แต่ให้ทราบว่า ปัญญามีต่างขั้น ตั้งแต่ขั้นฟัง แล้วขั้นพิจารณา อย่างเวลาที่ฟังว่า รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ก็จะมาพิจารณาว่า ที่เรายึดถือว่าเป็นเรา เรายึดถืออะไรว่าเป็นเรา ก่อนฟังพระธรรมเป็นเราทั้งนั้น พอฟังพระธรรมเราหายไปจากการฟังเข้าใจ รู้ว่าเป็นธรรมหมดทุกอย่าง แต่ธรรมที่เรายึดถือว่าเป็นเรา ได้แก่อะไรบ้าง ทั้งนามธรรม และรูปธรรม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แขนเรา เท้าเรา มือเรา หูเรา ตาเรา จมูกเรา ปากเรา ยึดถือรูปที่เกิดขึ้นว่าเป็นของเรา รูปนี้จะมาจากไหนอย่างไร ไม่สนใจ พอมีแล้วก็เป็นของเราเลย

    นี่การรวบรัดด้วยความไม่รู้ แล้วไม่คิด ไม่พิจารณาว่า รูปมาจากไหน ทำไมวันนี้รูปแข็งแรง แล้วรุ่งขึ้นหรืออีกหลายปีต่อมาเกิดโรคภัยไข้เจ็บ แล้วโรคร้ายๆ ก็มี รูปของเราหรือ ทำไมวันก่อนรูปเราแข็งแรง แล้ววันนี้รูปเราไม่แข็งแรง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า บางกลุ่มเกิดจากกรรม บางกลุ่มเกิดจากอุตุ คือความเย็นหรือความร้อน บางกลุ่มเกิดจากอาหาร

    เพราะฉะนั้น ตลอดตัวมีรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา กรรมทำให้รูปเกิด จิตทำให้รูปเกิด อุตุทำให้รูปเกิด อาหารทำให้รูปเกิด ระหว่างที่มีจิต แล้วก็จะถึงวันหนึ่งซึ่งกรรมหยุดไม่ทำให้รูปนี้เกิดต่อไป จิตดับ ไม่ให้รูปนี้เกิดอีกต่อไป มีมีการบริโภคอาหารอีกต่อไป เพราะฉะนั้นก็ยังคงเหลือแต่ซากเท่านั้นเอง

    นี่คือแม้แต่รูปที่เกิดมา ก็ไม่เคยพิจารณา ไม่เคยเข้าใจว่า เป็นอย่างไรมาอย่างไร ความไม่รู้ก็หลงติดยึดถือว่าเป็นของเรา แต่ผู้มีปัญญาจะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ รู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเราจริงๆ ทุกสิ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะจิตแล้วก็ดับหมด ถ้าหมดแล้วก็เหมือนกับไฟดับ ไฟที่ดับไปแล้ว ใครจะไปตามหาว่า ไฟนั้นอยู่ที่ไหน ไม่มี ฉันใด สภาพของนามธรรม และรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยก็ดับอย่างรวดเร็ว ฉันนั้น แต่เพราะไม่รู้ก็เลยยึดถือ และติดว่าเป็นเรา เมื่อมีเราแล้ว มีใครบ้างที่ไม่รักตัวตน มีใครบ้างที่ไม่ทำอะไรเพื่อตัวตน เพื่อสิ่งที่คิดว่า เป็นของเรา

    เพราะฉะนั้น โลกก็ยังคงวุ่นวาย มีความทุกข์ และมากด้วยอกุศล เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้ถ้าจะเข้าใจจริงๆ ปัญญาต้องอาศัยขั้นฟัง และขั้นพิจารณา แล้วถึงขั้นที่สติเกิดขึ้นทำกิจระลึกได้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่เราทำ


    หมายเลข 2209
    26 ก.ค. 2567