พุทธการกธรรมข้อต้น : ทานบารมี
พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องสักการะที่เขานำมาบูชา ทรงประกาศกรรมของเราแล้ว ได้ทรงยกพระบาทเบื้องขวาขึ้น เหล่าชินบุตรผู้ซีงอยู่ในนั้นทั้งหมดก็ได้ทำประทักษิณเรา พวกมนุษย์ พวกนาค และพวกคนธรรพ์ก็พากันอภิวาทแล้วก็หลีกไป เมื่อพระโลกนาถ และพระสงฆ์เสด็จล่วงสายตาเราไปแล้ว เรามีจิตยินดีร่าเริง ลุกขึ้นจากอาสนะ ในกาลนั้น เราเป็นผู้ประสบสุขด้วยสุข บันเทิงด้วยปราโมทย์ และดื่มด่ำด้วยปีติ นั่งคู้บัลลังก์ในกาลนั้น
ในกาลนั้น เรานั่งคู้บัลลังก์แล้วคิดอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในฌานถึงความเต็มเปี่ยมในอภิญญาแล้ว
ซึ่งในขณะนั้น มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความชื่นชมยินดีในการที่ สุเมธดาบสได้รับพยากรณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าต่อไปว่า
เราได้สดับถ้อยคำของพระพุทธเจ้า และทวยเทพในหมู่จักรวาลทั้งสองฝ่าย ได้เป็นผู้มีความปรีดาปราโมทย์ ดำริในเวลานั้นอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีถ้อยคำไม่เป็นสอง พระชินเจ้าทั้งหลายมีถ้อยคำไม่เปล่าประโยชน์ ถ้อยคำที่ไม่จริงย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เราต้องเป็นพระพุทธเจ้าแน่
ก้อนดินที่โยนไปในอากาศ ต้องตกลงในภาคพื้นเป็นแน่แท้ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น
มรณะต้องเป็นของแน่นอนของสรรพสัตว์ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น
เมื่อราตรีสิ้นไป ดวงตะวันต้องขึ้นเป็นแน่ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น
สีหะออกจากที่นอนแล้วต้องบันลือเป็นแน่ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น
ผู้แบกของหนักเมื่อถึงจุดหมายแล้ว ย่อมปลงภาระลงเป็นแน่ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดต้องเป็นคำแน่นอนเหมือนฉะนั้นแล
ผิฉะนั้น เราจะเลือกเฟ้นธรรมอันกระทำความเป็นพระพุทธเจ้า ทางโน้น และทางนี้ ทั้งเบื้องบน และเบื้องต่ำ ทั่วไปในทิศทั้ง ๑๐ ตลอดถึงธรรมธาตุ
เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบทานบารมี ซึ่งเป็นมหาวิถีที่พระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ในครั้งก่อนๆ ทรงประพฤติเป็นลำดับมา เป็นพุทธการกธรรมข้อต้น สอนตนว่าดังนี้
เธอจงบำเพ็ญทานบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อต้นดังนี้ สมาทานทำให้มั่นไว้ก่อน ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ หม้อน้ำที่เต็มอันผู้หนึ่งผู้ใดคว่ำลง ย่อมคายน้ำจนไม่เหลือ ย่อมรักษาน้ำไว้ในนั้นไม่ได้ ฉันใด เธอเห็นพวกยาจก เป็นคนชั้นต่ำ หรือชั้นสูง หรือชั้นกลางก็ตาม จงให้ทานจนไม่เหลือ ดุจหม้อน้ำที่เขาคว่ำ ฉะนั้นแล
สำหรับท่านที่ต้องการจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีบารมีไม่ได้ ทานก็เป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าท่านไม่สามารถที่จะมีจิตตั้งมั่นอย่างสุเมธดาบส แต่ว่าในชีวิตประจำวัน เพียงตั้งใจที่จะไม่ละเลยโอกาสที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่นเมื่อสามารถที่จะกระทำได้ นั่นก็เป็นความตั้งใจมั่น สมควรแก่ฐานะของผู้ที่ไม่ได้ต้องการที่จะอบรมปัญญาถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดตั้งใจที่จะให้ทาน หรือว่าสงเคราะห์คนอื่นเมื่อท่านสามารถที่จะกระทำได้ นั่นเป็นบารมีหนึ่งที่จะทำให้ค่อยๆ ละคลายการติดในวัตถุ และในนามธรรมรูปธรรมได้
ที่มา ...