พุทธการกธรรม : เนกขัมมบารมี
สำหรับบารมีข้อต่อไป สุเมธดาบสก็ได้เลือกเฟ้นว่า บารมีใดจะเป็นบารมีต่อไป ข้อความใน อรรถสาลินี มีว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หาไม่ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบเนกขัมมบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ในกาลก่อนได้บำเพ็ญอบรมมา อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๓ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๓ นี้ สมาทานให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ คนได้รับความลำบากอยู่นานในเรือนจำ ย่อมไม่ชอบอยู่ในเรือนจำเป็นอย่างยิ่ง แสวงหาแต่การพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด เธอก็จงเป็นเหมือนฉะนั้น จงเห็นภพทั้งปวงดุจเรือนจำ มุ่งแต่เนกขัมมะเพื่อรอดพ้นจากภพอยู่เถิด
ยากใช่ไหม เนกขัมมะจริงๆ คือ การที่จะพ้นไปจากเรือนจำ คือ ภพ ไม่ใช่เรือนจำเล็กๆ กว้างใหญ่เหลือเกิน ทุกแห่งที่มีการเกิด เป็นภพ พ้นยาก แต่ว่าการที่จะพ้นได้จริงๆ ต้องค่อยๆ พ้นทีละเล็กทีละน้อย จากขณะที่จิตเป็นทาสของความยินดี ต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจนเกินสมควร มากเกินไป ลองพิจารณาดูว่า เป็นอย่างนั้นไหม พอที่จะเริ่มรู้จักพอ และละคลายการติดในวัตถุทั้งหลายลงบ้างได้ไหม ค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ เริ่มทีละเล็กละน้อยจนกว่าจะเป็นเนกขัมมะได้จริงๆ คือ สามารถที่จะพ้นไปได้โดยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่พิจารณา ไม่คิด และไม่สังเกต ก็ย่อมจะไม่ทราบว่า ขณะนี้พ้นได้ไหม หรือว่าขณะนี้พ้นไม่ได้ แต่บางขณะพ้นได้เป็นครั้งๆ คราวๆ เพราะยังไม่มั่นคง แต่ก็ยังดีที่เริ่มพิจารณาแล้ว
ที่มา ...