ท่องพุทโธ เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณหรือไม่


    ผู้ฟัง ถ้าพระพุทธศาสนามีความสำคัญจริง ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงสั่งสอนให้บรรดาสาวกท่องพระไตรปิฎกไว้เลย ก่อนที่พระองค์จะปรินิพพาน เพราะว่าในสมัยของพระพุทธองค์ก็ไม่ได้คิดทำเป็นพระไตรปิฎกเพื่อสอน เป็นวิธีที่ง่าย

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นพระไตรปิฎกคืออะไร มาจากไหน ถ้าทราบแหล่งที่มาของพระไตรปิฎกก็จะทราบว่า พระไตรปิฎกคือธรรมที่ประมวลคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ๔๕ พรรษา และแยกออกเป็นพระวินัยส่วนหนึ่ง และพระธรรมส่วนหนึ่ง และพระธรรมก็แยกเป็นพระสุตตันตปิฎกส่วนหนึ่ง และพระอภิธรรมปิฎกส่วนหนึ่ง ก็คือพระธรรมทั้งหมดที่มีผู้ทรงจำไว้นั่นเอง และผู้ที่ทรงจำก็คือท่านพระอานนท์เถระ ซึ่งเป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน คือ เป็นเอตทัคคะในทางทรงจำด้วย ความจำของคนเราไม่เหมือนกัน ลองอ่านพระสูตรสูตรหนึ่งตั้งแต่ต้น เริ่มจาก ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ข้าพเจ้าคือท่านพระอานนท์ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี แล้วก็เริ่มดำเนินไปละเอียดมาก แม้แต่ตอนเช้าที่ยังไม่ถึงเวลาบิณฑบาต ก็เห็นว่า ควรได้สนทนาธรรมกับพราหมณ์ชื่อนั้นชื่อนี้ ณ สถานที่นั้นสถานที่นี้ ก็เสด็จไปประทับ มีการปราศรัย มีการสนทนา มีการโต้ตอบ ขอให้อ่านพระสูตรนั้นจบ แล้วขอให้เล่าตั้งแต่ต้นจนจบพระสูตรจะทำได้ไหม แต่ท่านพระอานนท์เถระเป็นเอตทัคคะในทางทรงจำ เพียงแต่ท่านได้พระธรรม คติของท่านพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะสามารถไตร่ตรองธรรมไปได้ตลอดอีก ๖๐,๐๐๐ ข้อ เกี่ยวเนื่องกันไหม

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความสามารถของบุคคลในครั้งโน้นกับในครั้งนี้ที่ผิดกันมาก ๒,๕๐๐ กว่าปีกับสมัยปัจจุบัน ซึ่งถ้าจะเทียบเคียงกัน ก็ควรจะเทียบเคียงกันในความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ไม่รู้จริงๆ แล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ หรือคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตัดออกไป ไม่จริง ไม่ใช่สัจธรรมเสียแล้ว แต่ถ้าเป็นสัจธรรมหมายความว่ามีหนทางที่เราสามารถเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขตธรรม ที่มีเหตุปัจจัยเป็นสังขารธรรมปรุงแต่ง เกิดแล้วดับ

    นี่คือเริ่มเห็นถูก แม้แต่เพียงขั้นฟัง แล้วเป็นปัญญาขั้นฟังเท่านั้น ยังไม่สามารถดับกิเลสอย่างรวดเร็วได้ ถ้าใครบอกว่า ปัญญาดับกิเลสได้เร็ว ให้ทำอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ปัญญา เป็นความไม่รู้อยู่นั้นเอง และเป็นความไม่รู้ที่ทำไปด้วยความต้องการ คือ โลภะด้วย ขณะใดที่ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นโลภะทั้งนั้น ไม่ต้องการเพียงรูปสวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ การสนทนาที่สะดวกที่สบาย ยังต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ลักษณะของโลภะแล้วเป็นการติดทั้งหมด

    ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสมุทัย และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ก็ทรงอุทานว่า ได้ทำลายนายช่างเรือน คือ โลภะ


    หมายเลข 2262
    28 ก.ค. 2567