ธรรมไม่ใช่เรื่องคิดแล้วเทียบเคียง


    ผู้ฟัง สภาพธรรมในชีวิตประจำวันที่ปรากฎ อย่างเช่น ลักษณะของโทสะที่เกิด จากที่เรียนมาก็จะรู้จักได้ทั้งโทสมูลจิต และโทสเจตสิก แต่เมื่อเกิดสภาพธรรมของโทสะเกิดขึ้น จะมีปัญญารู้ได้อย่างไรว่าเป็นโทสมูลจิต หรือโทสเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เราพยายามจะเทียบเคียง แต่ปัญญาของเรารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเทียบเคียงได้ แต่ต้องอบรมเป็นขั้นๆ ไป ขั้นแรก เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด เป็นปกติในขณะนี้ เราจะต้องมานั่งเรียกกายวิญญาณที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็งหรือเปล่า หรือเริ่มเข้าใจสภาพที่กำลังรู้ ลักษณะรู้ อาการรู้ มีแล้วเป็นลักษณะนั้นแหละ พอถึงเสียงปรากฎ ลักษณะที่รู้ สภาพที่รู้ เคยได้ยิน ลักษณะนั้นแหละเป็นลักษณะของสภาพรู้ และวันหนึ่งๆ นามธรรม และรูปธรรมตั้งเท่าไหร่ เพราะเหตุว่าปรากฎสั้นมาก สภาพของนามธรรม และรูปธรรมสั้นมาก

    เพราะฉะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด ไม่ได้ระลึก แล้วเราก็มาคิดว่านี่จะเป็นจิต หรือนี่จะเป็นเจตสิก จะเป็นลักษณะของโทสเจตสิก หรือว่าจะเป็นลักษณะของ โทสมูลจิต นี่คิดแต่ไม่มีทางที่จะรู้ เพราะเหตุว่าแม้เป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมก็ยังไม่ได้รู้ชัด

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปรู้สิ่งที่เราเรียน โดยการที่ว่าคิดเทียบเคียง และก็ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่เมื่อมีความรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมมีไหม ให้ปัญญารู้ขึ้น นั่นก็คือต้องเป็นไปตามลำดับขั้น


    หมายเลข 2283
    5 พ.ย. 2567