สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอารัมมณปัจจัย
สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้ ปรมัตถธรรม ๔คือจิตปรมัตถ์ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ มีจริง ๆ กำลังรู้ กำลังได้ยิน เป็นสภาพที่ได้ยิน เป็นสภาพที่รู้
เพราะฉะนั้นถ้าสติระลึกตรงลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ก็จะรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นจิตได้ และสำหรับเจตสิกต่าง ๆ ก็มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละประเภท เช่นเวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ โลภะเป็นสภาพที่ต้องการ โทสะเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง
เพราะฉะนั้นเมื่อเจตสิกแต่ละประเภท มีลักษณะอาการปรากฏขณะใด สามารถที่จะเป็นอารมณ์ คือให้จิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะของเจตสิกนั้น ๆ ได้ เพราะฉะนั้นจิตเป็นอารัมมณปัจจัยได้ เจตสิกทั้งหมดเป็นอารัมมณปัจจัยได้รูปเป็นอารัมมณปัจจัยได้ นิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยได้
เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นอารัมมณปัจจัยได้ แม้นิพพานก็เป็นอารัมมณปัจจัยของโลกุตตรจิต นอกจากนั้นธรรมอื่นซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรมเช่น บัญญัติต่าง ๆ ก็เป็นอารัมมณปัจจัยด้วย จริงหรือไม่จริง ?
เห็นอะไรคะ ? กำลังเห็นอะไร ? จะตอบว่าอย่างไรดีเห็นเก้าอี้ เก้าอี้เป็นบัญญัติใช่ไหม สำหรับสิ่งที่มีรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏทางตา ลักษณะที่ใช้คำว่าเก้าอี้ นึกถึงคำว่าเก้าอี้ ขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นบัญญัติ แต่ก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ทางใจ ไม่ใช่ทางตาที่เห็น ไม่ใช่ทางหูที่ได้ยิน
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทุกชนิดทั้งปรมัตถธรรม และบัญญัติธรรม เป็นอารัมมณปัจจัย ขณะที่จิตกำลังรู้สภาพธรรมนั้น ๆ
ที่กำลังคิดนึกทุก ๆ วันนี้ คิดถึงอะไร คิดถึงปรมัตถธรรม หรือบัญญัติธรรม ?คิดถึงปรมัตถ์บ้างหรือเปล่า ?
เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบได้ว่า ขณะที่จิตกำลังมีสิ่งใด กำลังรู้สิ่งใดเป็นอารมณ์ ขณะนั้นสิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยแก่จิตนั้น