ความเพียรถูก หรือ สัมมาวายามะ
ข้อความต่อไปที่ว่า มีความเพียร ลักษณะของสัมมาวายามะ คือ เพียรระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เพื่อให้มีสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นชื่อของปัญญาที่รู้ชัด ไม่หลงเข้าใจผิด เป็นสัมมาทิฏฐิ และเพื่อให้มีสติ เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของกายในกายนั้น ก็ต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ คือ ตามระลึกสิ่งที่เกิดแล้วกำลังปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ขณะนี้ทุกคนเจริญได้ มีเห็น มีสี มีได้ยิน มีเสียง ในขณะนี้มีความเพียรได้ มีสัมปชัญญะได้ มีสติได้เนืองๆ บ่อยๆ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้
ถ้าเป็นในหมวดของกาย ที่ท่านกล่าวไว้ว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้
ข้อความอธิบายใน สติปัฏฐานวิภังค์ มีว่า
ที่ว่ากำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ก็คือ กายนั่นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก นี้เรียกว่า โลก
ถึงแม้ในขณะที่ระลึกที่กาย ขันธ์ ๕ ปรากฏก็ได้แล้วแต่ว่าจะเป็นขันธ์หนึ่งขันธ์ใด เพราะฉะนั้นก็กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก
ถ้าพิจารณากาย เห็นกายในกาย กายนั่นเองชื่อว่าโลก กายก็เป็นโลกด้วย ความหมายของอภิชฌา คือ ความกำหนัด
ความกำหนัดนักแห่งจิตอันใด นี้เรียกว่า อภิชฌา
โทมนัส ความหมายคือ ความไม่สบาย ความทุกข์ ความไม่แช่มชื่นทางใจ นี้เรียกว่า โทมนัส
เวลานี้ถ้าเพลินไป สติไม่ระลึกในกายก็เป็นอภิชฌา ถ้าไม่แช่มชื่น ไม่พอใจ ไม่พิจารณาสภาพลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นโทมนัส
ที่จะกำจัดอภิชฌา และโทมนัสเสียได้ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่เลือก ไม่ติดข้อง
ที่ว่าเห็นเวทนาในเวทนาก็โดยนัยเดียวกัน คือ ความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง แล้วก็กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ เวทนานั้นเองชื่อว่าโลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก นี้เรียกว่า โลก
เห็นจิตในจิตก็โดยนัยเดียวกัน คือ ในบางคราวก็พิจารณารู้จิตของตนเอง และบางคราวก็พิจารณารู้จิตของบุคคลอื่นว่า ขณะนั้นกำลังมีราคะ หรือปราศจากราคะ มีโทสะหรือปราศจากโทสะ เป็นต้น กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ จิตนั่นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก นี้เรียกว่า โลก
ไม่ใช่กำจัดที่อื่นเลย กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลก คือ ในขันธ์ ๕ ที่ปรากฏ
ที่ว่าเห็นธรรมในธรรม ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกนั้น ก็แสดงเรื่องของนิวรณ์ เรื่องของโพชฌงค์ ที่ว่ากำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ คือ ธรรมเหล่านั้นเองชื่อว่าโลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก รนี้เรียกว่าโลก
นี่เป็นเรื่องของอุทเทสวาระ
อย่าคิดจำกัดสติ ไม่ว่าจะเป็นกายก็ระลึกได้ เวทนาก็ระลึกได้ จิตก็ระลึกได้ ธรรมทั้งหลายก็ระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นภายในที่ตนเอง หรือที่บุคคลอื่นที่เป็นภายนอก สติก็ระลึกได้ ถ้าจำกัด ก็เป็นตัวตน และไม่เป็นการเจริญปัญญาด้วย จำกัดไม่ให้ปัญญาเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน