ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ
เพื่อประกอบความมั่นใจของท่านผู้ฟังให้เข้าใจชัดเจนว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่เว้นสิ่งใด ขอกล่าวถึง พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๖ กถาวัตถุปกรณ์ ภาค ๑ สติปัฏฐานกถา ซึ่งเป็นคำถามตอบของท่านสกวาทีกับปรวาที
ท่านสกวาทีถามว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ
เวลาที่ศึกษาพระไตรปิฎก ก่อนที่จะดูคำตอบ ท่านก็อาจจะตอบเองได้ และก็ดูว่าตรงกันไหม ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ
ปรวาทีตอบว่า ถูกแล้ว
สกวาทีถามว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ จาคานุสติ อานาปานสติ มรณานุสติ กายคตาสติหรือ
ท่านสกวาทีไม่ยอมที่จะให้ผ่านไปง่ายๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ชัดเจน ถ้ากล่าวว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน ถ้าอย่างนั้นธรรมทั้งปวงก็เป็นสติ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นพุทธานุสติ เป็นจาคานุสติ เป็นอานาปานสติ เป็นมรณานุสติ เป็นกายคตาสติหรือ
ปรวาทีตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
คำว่า สติปัฏฐาน หมายถึงสติเจตสิก ซึ่งเป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ อย่างหนึ่ง และหมายถึงอารมณ์ของสติปัฏฐานอีกอย่างหนึ่ง
กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน เพราะเป็นอารมณ์ของสติ สติที่ระลึกเป็นไปในกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน
สติขั้นทาน ระลึกเป็นไปในทาน ไม่ใช่สติปัฏฐาน
สติขั้นวิรัติทุจริต ไม่ใช่สติปัฏฐาน
สติที่ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ ละความโกรธความโลภต่างๆ ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม
สติ เป็นสติปัฏฐานด้วย และสิ่งที่สติระลึกรู้เป็นสติปัฏฐานด้วย เพราะฉะนั้น ข้อความข้างต้นที่สกวาทีถามว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีจึงตอบว่า ถูกแล้ว
หมายความถึง สติปัฏฐานในความหมายของอารมณ์ของสติ คือ สติระลึกรู้ได้ แต่สำหรับที่สกวาทีถามว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นพุทธานุสติ เป็นจาคานุสติ อานาปานสติ มรณานุสติ กายคตาสติหรือ ปรวาทีจึงกล่าวว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จะเป็นสตินทรีย์ไม่ได้ เป็นสติพละไม่ได้ เป็นพุทธานุสติไม่ได้ ไม่ใช่ระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นจาคานุสติไม่ได้ เพราะเหตุว่า ที่สกวาทีถามครั้งที่ ๒ นั้น หมายถึงสติเจตสิก ซึ่งเป็นมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘
สกวาทีย้อนถามอีกว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ
ปรวาทีตอบว่า ถูกแล้ว
คำถามกับคำตอบ เข้าใจกันระหว่างคน ๒ คน ที่รู้เรื่องความหมายของสติทั้ง ๒ ประการ คือ รู้ทั้งสติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ และรู้ทั้งสติปัฏฐานที่เป็นอารมณ์ของสติด้วย เพราะฉะนั้นจะพูดกันอย่างไร จะตอบกันอย่างไร ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ขณะนั้นถามถึงสติอะไร เมื่อถามถึงว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีตอบว่า ถูกแล้ว ก็ต้องเป็นในความหมายที่ว่า เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ทุกอย่าง
สกวาที เพื่อความแจ่มแจ้งก็ได้ถามต่อไปว่า จักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานหรือ
ปรวาทีกล่าวว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
ถ้าปรวาทีตอบอย่างนี้ ปรวาทีตอบโดยนัยที่ว่า จักขวายตนะ คือ จักขุปสาท ไม่ใช่สติเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่ว่าจักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีกล่าวตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ในความหมายที่ว่า จักขวายตนะไม่ใช่สติเจตสิก
แต่ถ้าในความหมายที่ว่า เป็นอารมณ์ของสติ ก็เป็นสติปัฏฐานเพราะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานแล้ว ต้องใช่
สกวาทีถามต่อไปอีกว่า จักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานหรือ
ปรวาทีตอบว่า ถูกแล้ว
เข้าใจไหม ในความหมายของ ๒ อย่าง คือ ในความหมายของสติที่เป็นองค์มรรค ในความหมายของสติปัฏฐานซึ่งเป็นสติที่กำลังระลึกรู้ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความหมายของสติปัฏฐาน ๒ นัย นี้ก็จะเข้าใจข้อความถามตอบระหว่างสกวาทีกับปรวาทีถูกต้อง
ผู้ฟัง …
ท่านอาจารย์ ท่านทราบกันแล้ว มีกล่าวไว้ในที่อื่น ท่านเป็นสกวาทีกับปรวาทีแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องย้อนถามกันว่า ใครรู้อะไรหรือใครไม่รู้อะไร ในพยัญชนะเป็นแต่เพียงข้อความอย่างนี้ที่ว่า จักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีกล่าวตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น สกวาทีถามอีกครั้งว่า จักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีตอบว่า ถูกแล้ว ที่ตอบว่า ถูกแล้ว เพราะเป็นอารมณ์ของสติ ถ้าตอบว่าไม่ถูกหรือไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่า ไม่ใช่สติ ถึงจะเป็นสมาธิก็ไม่ใช่สติเพราะมรรคมีองค์ ๘
สกวาทีถามต่อไปถึงโสตายตนะ คือ โสตปสาท เรื่อยไปถึงชิวหาปสาท กายปสาท ถามถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ด้วยว่า เป็นสติปัฏฐานหรือ ท่านไม่เว้นอะไรเลย ไม่ให้เกิดความข้องใจสงสัยว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องเว้นอย่างนั้น ต้องเว้นอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกไม่เคยมีข้อความที่กล่าวว่า ให้เว้นเลย แต่มีข้อความว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน กล่าวไว้ชัดเจน