พระชาติที่พระโพธิสัตว์เป็นพญาช้าง (ฉัททันตชาดก)


    ข้อความในพระไตรปิฎกมีมากที่แสดงให้เห็นว่าการเกิดในภูมิต่างๆ นั้น ย่อมวนเวียนไปตามปัจจัย คือ กรรมที่เป็นเหตุ

    ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ที่ทรงเป็นพญาช้าง เป็นเรื่องราวในอดีตเนิ่นนานมากทีเดียว

    ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ ฉัททันตชาดก

    ในอดีตกาล ครั้งนั้น พระเจ้ากาสิกราชทรงมีพระมเหสีนามว่า พระนางสุภัททา พระนางสุภัททาทรงฝันเห็นพญาช้างเผือกในป่า ซึ่งเคยเป็นสามีที่รักในชาติก่อน พระนางสุภัททาเป็นคนพาล โกรธเคืองผูกเวรสามีในชาติก่อน จึงปรารถนาที่จะฆ่าพญาช้างนั้น พระนางทูลพระเจ้ากาสิกราชว่า พระนางแพ้พระครรภ์ ปรารถนาที่จะได้งาของพญาช้างนั้น พวกนายพรานที่มีฝีมือทั้งหลาย ก็ทูลพระนางสุภัททาว่า

    พญาช้างนั้น มีช้างดุร้ายแวดล้อมรักษาอยู่มากทีเดียว พระนางทรงปรารถนาจะให้ฆ่าพญาช้างเสีย หรือว่าจะให้พญาช้างฆ่าพวกเชื้อแถวนายพรานเหล่านั้นเสีย พระนางสุภัททาก็รับสั่งว่า

    ดูกร นายพราน ฉันริษยาด้วย เสียใจด้วย เพราะนึกถึงความหลัง ก็ตรอมใจ ขอท่านจงทำตามความประสงค์ของฉัน ฉันจะให้บ้านส่วยแก่ท่าน ๕ ตำบล

    นายพรานทูลถามว่า

    พญาช้างนั้นอยู่ที่ไหน ยืนที่ไหน ทางไหนที่พญาช้างไปอาบน้ำ พญาช้างอาบน้ำด้วยประการอย่างไร ข้าพระองค์จักรู้จักคติแห่งพญาช้างได้อย่างไร

    พระนางสุภัททารับสั่งว่า

    ในที่ๆ พญาช้างอยู่นั้น มีสระอยู่ใกล้ๆ น่ารื่นรมย์ มีท่าราบเรียบ น้ำมากมาย สะพรั่งไปด้วยพันธุ์ไม้ดอก มีหมู่ภมรมาคลึงเคล้า พญาช้างนั้นลงอาบน้ำที่สระนั่นแหละ ชำระศีรษะแล้ว ห้อยพวงดอกอุบล มีร่างกายเผือกผ่องดังดอกบัวขาบ บันเทิงใจ ให้มเหสีชื่อว่า สัพพทัททา เดินหน้า กลับไปยังที่อยู่ของตน

    เมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว นายพรานผู้นั้น ก็ถือเอาแร่งลูกธนู ข้ามภูเขาใหญ่ ๗ ลูก ไปยังที่อยู่ของพญาช้าง และในที่สุดก็ได้ฆ่าพญาช้างนั้น เลื่อยงาอันงดงามทั้งคู่นั้น นำกลับไปถวายพระนางสุภัททา กราบทูลว่า

    พญาช้างล้มแล้ว ขอเชิญพระนางทอดพระเนตรงาทั้งคู่นั้นเถิด พระนาง สุภัททาผู้เป็นพาล ครั้นทอดพระเนตรเห็นงาพญาช้างทั้งคู่ ผู้เป็นสามีที่รักในชาติก่อนแล้ว หทัยของพระนางก็แตกทำลาย ณ ที่นั้นเอง เพราะเหตุนั้นเอง พระนางจึงได้สวรรคต

    เรื่องเศร้าทั้งนั้นใช่ไหม สำหรับชีวิตที่เต็มไปด้วยความรักใคร่ ความริษยา ความอาฆาตต่างๆ จากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ไม่มีสิ้นสุดเลย ถ้าในขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ชีวิตย่อมไม่มีการขัดเกลา และย่อมจะพอกพูนเต็มไปด้วยความรักใคร่ ความผูกพัน ความริษยาอาฆาตต่างๆ สืบต่อไป เป็นภพ เป็นชาติ ต่อๆ ไปในสังสารวัฎฎ์

    ข้อความตอนท้ายของ ฉัททันตชาดก มีว่า

    พระศาสดาได้บรรลุสัมโพธิญาณแล้ว มีพระอานุภาพมาก ได้ทรงทำการแย้มในท่ามกลางบริษัท ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พากันทูลถามว่า

    พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงทำการแย้มให้ปรากฏเมื่อไม่มีเหตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ท่านทั้งหลาย จงดูนางกุมารีสาวคนนั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติ อนาคาริยวัตร นางกุมารีคนนั้นแล เป็นนางสุภัททาในกาลนั้น เราตถาคตเป็นพญาช้างในกาลนั้น นายพรานถือเอางาทั้งคู่อันงดงามของพญาช้างหาที่เปรียบในพื้นปฐพีมิได้กลับมายังพระนครกาสีในกาลนั้น เป็นพระเทวทัต

    พระพุทธเจ้าผู้ปราศจากความกระวนกระวาย ความเศร้าโศก และกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้ อันเป็นของเก่า ไม่รู้จักสิ้นสูญ ซึ่งพระองค์ก็ท่องเที่ยวไปแล้วตลอดกาลนาน เป็นบูรพจรรยาทั้งสูงทั้งต่ำว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คราวครั้งนั้น เราเป็นพญาช้างฉัททันต์ อยู่ที่สระฉัททันต์นั้น ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล

    จบฉัททันตชาดกที่ ๔

    ถ้าท่านผู้ฟังต้องการความละเอียด ท่านศึกษาหาความรู้ได้ในชาดกที่ละเอียด ยิ่งกว่านี้ เป็นชีวิตที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าในกาลครั้งไหน ถ้ายังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ความรักใคร่ เยื่อใย ความผูกพัน ความพยาบาทอาฆาตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช้างเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว และต่อไปจะเป็นอะไรอีก ก็ไม่พ้นจากการที่จะต้องเต็มไปด้วยเยื่อใย ความรักใคร่ ความผูกพัน ความริษยา ความอาฆาตในบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

    ในสมัยนี้ก็มีคนที่อยากจะรู้ว่าชาติก่อนเคยเป็นใคร เพราะอะไร ความผูกพันยึดถือนามธรรมและรูปธรรมในชาตินี้ว่าเป็นบุคคลนี้ยังไม่พอ ยังย้อนกลับไปที่จะผูกพันยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมที่ล่วงไปแล้วในอดีตกาลนับไม่ถ้วน กลับมายึดถือว่าเราเคยเป็นบุคคลในครั้งนั้น นี่เป็นด้วยความเยื่อใย ยึดถือ ผูกพันในตัวตนอย่างมากทีเดียว

    แต่สำหรับผู้ที่หมดกิเลสแล้ว หรือเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ผูกพัน ไม่ยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมในปัจจุบัน เช่น พระอริยสาวกและพระอรหันต์ในครั้งนั้น ท่านได้ฟัง ได้ทราบเรื่องในอดีตชาติของท่าน และของพระผู้มีพระภาค แต่ไม่ใช่ด้วยความยึดถือในความเป็นตัวตน ในความเป็นบุคคล แต่เป็นผู้ที่รู้เหตุในอดีตที่ได้กระทำ ที่ได้สะสมมา ที่เป็นปัจจัยให้มีการกระทำทางกาย ทางวาจา แม้จิตใจความคิดนึกเป็นไปต่างๆ ก็สืบเนื่องมาจากอดีตชาติที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง


    หมายเลข 2356
    17 ต.ค. 2566