พระชาติที่พระโพธิสัตว์เป็นพระยาวานร (กปิลราชจริยา)


    ในเรื่องของสัจจะ ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณ เห็นประโยชน์ของสัจจะ จึงจะทำให้เป็นผู้ที่มีสัจจะยิ่งขึ้น นอกจากทุกท่านจะพิจารณาสัจจะของท่านเองแล้ว ควรที่จะได้ทราบสัจจะของพระผู้มีพระภาคในสมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้บำเพ็ญสัจจบารมี

    ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก กปิลราชจริยา มีว่า

    ในกาลเมื่อเราเป็นพระยาวานร อยู่ ณ ซอกเขาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ในกาลนั้น เราถูกจระเข้เบียดเบียนไปไม่ได้ เรายืนอยู่ ณ โอกาสใด เราโดดจากฝั่งนี้ไปยังฝั่งโน้น จระเข้เป็นสัตว์ดุร้ายน่ากลัวอยู่ ณ โอกาสนั้น จระเข้นั้นกล่าวกับเราว่า มาเถิด แม้เราก็กล่าวกับจระเข้นั้นว่า จะมา เรากระโดดลงเหยียบศีรษะจระเข้นั้น แล้วกระโดดไปยืนอยู่ฝั่งโน้น เรามิได้ทำตามคำของจระเข้ที่กล่าวหลอกลวงนั้นหามิได้ ผู้เสมอด้วยคำสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเราฉะนี้แล

    แม้ว่าพระโพธิสัตว์ได้สะสมบารมีมา บางพระชาติก็เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางพระชาติก็เกิดเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นฤๅษี เป็นดาบสต่างๆ ซึ่งจะได้เห็นบารมีทั้งหลายที่อบรมมาว่า แม้ในพระชาติที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังมีการคิดมนสิการ เป็นไปทางฝ่ายกุศลตามกำลังของการเกิดในภพภูมินั้นๆ เช่น ในพระชาติที่เป็น พระยาวานร

    ข้อความใน อรรถกถา มีว่า

    ได้ยินว่า ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ (ซึ่งเป็นพระยาวานร มีกำลังดุจช้างสาร) มิได้ดูแลฝูง เที่ยวไปผู้เดียว กลางแม่น้ำนั้นมีเกาะอยู่เกาะหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยผลไม้ มีขนุนและมะม่วงเป็นต้น พระโพธิสัตว์ผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังเร็ว กระโดดจากฝั่งนี้ของแม่น้ำไปถึงแผ่นหินแผ่นหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเกาะและแม่น้ำ และกระโดดจากแผ่นหินนั้นไปถึงเกาะนั้น พระยาวานรไปกินผลไม้ที่เกาะนั้น และตอนเย็นก็กลับโดยวิธีนั้น เป็นประจำ

    ในกาลนั้น มีจระเข้ตัวหนึ่งพร้อมด้วยนางจระเข้อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำนั้น นางจระเข้เห็นพระโพธิสัตว์ไปๆ มาๆ อยู่ เกิดแพ้ท้องอยากกินเนื้อหัวใจของ พระโพธิสัตว์ จึงบอกกะนายจระเข้ว่า อยากกินเนื้อหัวใจลิงนั้น นายจระเข้ก็ไป นอนรอพระโพธิสัตว์บนหลังแผ่นหิน ระหว่างเกาะกับฝั่งของแม่น้ำนั้น

    พระโพธิสัตว์เที่ยวหาอาหารที่เกาะนั้นตลอดวัน ตอนเย็นก็ยืนมองดูแผ่นหิน และคิดว่า วันนี้หินแผ่นนี้สูงกว่าเดิมเพราะอะไรหนอ

    ธรรมดาพระมหาสัตว์สังเกตขอบของน้ำและขอบของแผ่นหินไว้เป็นอย่างดี ดังนั้น พระโพธิสัตว์จึงดำริว่า วันนี้น้ำก็ยังไม่ลด ทำไมแผ่นหินนี้จึงปรากฏใหญ่มาก จระเข้คงจะนอนบนก้อนหินเพื่อจะจับเราเป็นแน่

    พระยาวานรคิดว่า เราจักทดลองจระเข้นั้นก่อน จึงยืนอยู่อย่างนั้น แล้วทำเป็นพูดกับแผ่นหิน เรียกหิน หินก็ไม่ตอบถึง ๓ ครั้ง พระโพธิสัตว์จึงพูดอีกว่า เจ้าหินทำไมวันนี้ไม่ตอบเราเล่า

    จระเข้คิดว่า วันอื่นๆ หินคงตอบพระยาวานร แต่วันนี้หินไม่ตอบเพราะเราครอบไว้ จระเข้จึงตอบว่า ว่าอย่างไรพระยาวานร

    พระยาวานรถามว่า เจ้าเป็นใคร

    จระเข้ตอบว่า เราเป็นจระเข้

    พระยาวานรถามว่า เจ้ามานอนที่นี่ทำไม

    จระเข้ตอบว่า ต้องการหัวใจท่าน

    พระโพธิสัตว์คิดว่า เราไม่มีทางไปทางอื่น ทางไปของเราถูกปิดเสียแล้ว ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า เราไม่มีทางอื่นจะไป วันนี้เราจะลวงจระเข้ เราจะเปลื้องจระเข้จากบาปใหญ่ด้วยอาการอย่างนี้ และเราก็จะได้ชีวิตด้วย

    พระมหาสัตว์จึงกล่าวกะจระเข้ว่า เราจักกระโดดไปบนตัวท่าน

    จระเข้บอกว่า กระโดดมาเลย อย่ามัวชักช้า

    พระมหาสัตว์บอกให้จระเข้อ้าปากไว้ และงับตอนที่ท่านกระโดดไป

    ตามธรรมดาเมื่อจระเข้อ้าปาก ตาก็หลับ จระเข้ไม่รู้ทันก็อ้าปาก ตาของจระเข้ก็หลับ จระเข้นอนอ้าปาก ไม่ลืมตาเลย พระมหาสัตว์รู้อย่างนั้น จึงกระโดดจากเกาะไปเหยียบหัวจระเข้แล้วกระโดดไปยืนบนฝั่งโน้นดุจสายฟ้าแลบ

    แม้พระมหาสัตว์รักษาคำสัตย์ เพราะได้ให้ปฏิญญาไว้ว่า เราจะกระโดดไป และได้กระโดดไปจริง

    จระเข้เห็นความอัศจรรย์ดังนั้นคิดว่า พระยาวานรนี้ทำอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงกล่าวว่า

    พระยาวานรผู้เจริญ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่างในโลกนี้ ย่อม ครอบงำศัตรูได้ ธรรมทั้งหมดนั้นคงมีอยู่ในตัวของท่าน ท่านพระยาวานร ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ คือ สัจจะ ธรรม ธิติ จาคะ มีอยู่แก่ผู้ใดเหมือนอย่างท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้

    บทว่า สจฺจํ คือ วจีสัจจะ ที่ท่านกล่าวว่า เราจักมาสำนักของเรา แล้วไม่โกหกมาจนได้ นี้เป็นวจีสัจจะของท่าน

    บทว่า ธมฺโม คือ วิจารณปัญญา ได้แก่ ปัญญาไตร่ตรอง ปัญญาที่เป็นไปว่า เมื่อเราทำอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าวิจารณปัญญาของท่าน

    บทว่า ธิติ ได้แก่ ความเพียรที่ไม่ขาด แม้ความเพียรนี้ก็มีแก่ท่าน

    บทว่า จาโค คือ การบริจาคตน ท่านสละตนมาหาเรา เราไม่สามารถจะ จับท่านได้ นี้เป็นความผิดของเราเอง

    บทว่า ทิฏฺฐํ คือ ศัตรู

    บทว่า โส อติวตฺตติ ความว่า ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้มีอยู่แก่บุคคลใด เหมือนอย่างมีแก่ท่าน ผู้นั้นย่อมก้าวล่วง คือครอบงำศัตรูของตน เหมือนท่านพ้นเราในวันนี้

    จระเข้สรรเสริญพระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้วได้ไปที่อยู่ของตน

    จระเข้ในครั้งนั้นได้เป็นพระเทวทัตในครั้งนี้ นางจระเข้ คือ นางจิญจมาณวิกา ส่วนพระยาวานร คือ พระโลกนาถ


    หมายเลข 2357
    17 ต.ค. 2566