เรื่องของนายมาตังคะ


    สำหรับเรื่องของนายมาตังคะ ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปในแต่ละภพ แต่ละชาติ ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา

    ในสมัยนั้น ที่พระนครพาราณสี มีเศรษฐีผู้หนึ่ง มีทรัพย์แปดสิบโกฏิ เศรษฐีผู้นั้นมีธิดาคนหนึ่งชื่อ ทิฏฐมังคลิกา สะสวย น่ารัก น่าชม พร้อมด้วยรูปสมบัติ โภคสมบัติ และคุณสมบัติ แต่ไม่ว่าจะมีชายใดมาสู่ขอ นางก็ไม่เห็นชายใดคู่ควรเลยสักคนเดียว มีข้อตำหนิไปเสียหมด ไมว่าจะเป็นในเรื่องชาติบ้าง หรือไม่ก็ในเรื่องทรวดทรง เรื่องมือ เรื่องเท้า เป็นต้น

    วันหนึ่งนางทิฏฐมังคลิกาก็ตั้งใจจะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา ได้สั่งให้จัดตกแต่งท่าน้ำ บรรทุกของเคี้ยวของกินเป็นอันมากเต็มเล่มเกวียน เอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปด้วย และขึ้นยานอย่างมิดชิด มีหมู่ญาติแวดล้อมออกจากปราสาทไป

    สมัยนั้น พระมหาบุรุษได้เกิดเป็นคนจัณฑาล มีชื่อว่ามาตังคะ อายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในกระท่อมหนังนอกพระนคร วันนั้นนายมาตังคะมีกิจที่จะเข้าไปในพระนครพาราณสี เขานุ่งผ้าเก่าสีเขียว มือข้างหนึ่งถือกระเช้า อีกข้างหนึ่งถือกระดิ่ง สั่นร้องบอกคนที่เดินผ่านไปมา ให้รู้ว่าเขาเป็นคนจัณฑาล ด้วยความนอบน้อมเจียมตน ซึ่งความนอบน้อมเจียมตนเป็นกุศล แต่ผู้คนในสมัยนั้น หรือสมัยนี้ ก็ยังคงยึดถือในกำเนิดคือ ไม่ได้พิจารณาถึงกุศลจิตและอกุศลจิต แต่ถือในเรื่องชั้นวรรณะ

    เมื่อนางทิฏฐมังคลิกาได้ยินเสียงกระดิ่ง ได้มองทางช่องม่าน เห็นนายมาตังคะ ก็รังเกียจจนตัวสั่น ลองคิดดูว่า นายมาตังคะ ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า มีรูปร่างหน้าตาทำให้คนรังเกียจจนตัวสั่น

    นางถ่มน้ำลาย แล้วบอกให้พี่เลี้ยงเอาน้ำมาล้างตาที่เห็นนายมาตังคะ แล้วบ้วนปากที่เอ่ยชื่อนายมาตังคะ แล้วให้กลับรถไปปราสาท คือเลิกเล่นน้ำที่แม่น้ำคงคา ผู้ที่คิดว่าจะได้ข้าวปลา อาหาร สุรา เนื้อ ของหอม จากการไปเล่นแม่น้ำคงคา ของนางทิฏฐมังคลิกา ก็โกรธนายมาตังคะ ที่ทำให้ตนพลาดโอกาสที่จะสนุกสนานและได้ลาภอย่างนั้น คนเหล่านั้นตามนายมาตังคะไปจนถึงที่อยู่ แล้วทำร้ายจนเข้าใจว่านายมาตังคะตายแล้ว แล้วช่วยกันจับ ลากไปทิ้งไว้ที่กองขยะ เมื่อนายมาตังคะรู้สึกตัว ก็พิจารณาหาเหตุที่ถูกทำร้ายว่าเกิดจากอะไร ก็รู้ว่าเป็นเพราะนางทิฏฐมังคลิกานั่นเอง

    นายมาตังคะจึงคิดจะละมานะของนางทิฏฐมังคลิกา นายมาตังคะไปนอนที่ลานบ้านของนางทิฏฐมังคลิกา โดยตั้งใจว่าเราได้นางทิฏฐมังคลิกาจึงจะลุก เมื่ไม่ได้ก็จะตายเสียที่นี่แหละ

    ซึ่งความเห็นผิดของคนในสมัยนั้นมีอย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า เมื่อคนจัณฑาลโกรธ แล้วนอนตายที่ใกล้ประตูห้องของใคร คนที่อยู่ในห้องนั้นทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายกลางเรือน คนในเรือนทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายที่ประตูเรือน คนที่อยู่ใน 2 ข้างต้องเป็นจัณฑาล เมื่อคนจัณฑาลตายที่ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง 14 หลัง คือ ข้างโน้น 7 หลัง ข้างนี้ 7 หลัง ทั้งหมอต้องตกเป็นจัณฑาล

    คนทั้งหลายได้ไปบอกเศรษฐีว่า นายมาตังคะนอนอยู่ที่ลานบ้านของเศรษฐี เศรษฐีบอกให้เอาทรัพย์มาให้นายมาตังคะ 1 มาสก เพื่อที่จะให้นายมาตังคะลุกไป แต่นายมาตังคะไม่ยอมลุก เขาบอกว่าไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการนางทิฏฐมังคลิกา คนเหล่านั้นถามว่านางทิฏฐมังคลิกามีโทษผิดอะไร นายมาตังคะตอบว่านางไม่ได้ทำอะไร แต่พวกของนางทำร้ายตน เมื่อคนเหล่านั้นไปบอกเศรษฐี เศรษฐีเพิ่มเงินให้อีก แต่นายมาตังคะก็ไม่กลับไป ยังนอนอยู่ตามเดิม เศรษฐีและภรรยากลัวนายมาตังคะจะตาย ก็ส่งอาหารและน้ำไปให้นายมาตังคะเพิ่มขึ้น แต่นายมาตังคะก็ไม่รับ ล่วงไป 1 วัน 2 วัน 3 วัน 4 วัน 5 วัน พวกเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันบอกเศรษฐีให้นางทิฏฐมังคลิกาแก่นายมาตังคะ แต่เศรษฐีและภริยาไม่ยอม ส่งเงินให้เพิ่มอีกเรื่อยๆ จนถึงหนึ่งแสน แต่นายมาตังคะก็ไม่ยอมรับ จนถึงวันที่ 7 ชาวบ้านทั้ง 14 หลัง ก็ประชุมกัน ยกนางทิฏฐมังคลิกาให้นายมาตังคะ โดยพากันขึ้นไปบนปราสาท ถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออก ให้นุ่งผ้าเขียวเก่าๆ ให้ประดับต่างหูดีบุก มอบกระเช้าใบตาลให้ แล้วจับแขนไปส่งให้นายมาตังคะ

    นายมาตังคะทำมานะของนางทิฏฐมังคลิกาลดลงโดยไม่ยอมลุกขึ้น จนกว่านางจะพูดกับตนอย่างนอบน้อม ซึ่งนางทิฏฐมังคลิกา เรียกนายมาตังคะว่าเจ้านาย แล้วบอกให้ลุกขึ้น นายมาตังคะให้นางทิฏฐมังคลิกาแบกตน พาไปยังประตูที่จะออกไปสู่บ้าน แต่ไม่บอกว่าให้ไปทางไหน ซึ่งนางทิฏฐมังคลิกาเป็นผู้ที่ไม่เคยแม้แต่จะยกของที่เบาๆ อย่างก้านบัว แต่ก็เชื่อฟัง เพราะฉะนั้นก็แบกนายมาตังคะเดินไปทางประตูด้านทิศตะวันออก แล้วถามว่าออกทางประตูนี้ใช่ไหม นายมาตังคะตอบว่าไม่ใช่ นางทิฏฐมังคลิกาแบกต่อไปยังประตูเมืองด้านตะวันตก นายมาตังคะบอกว่าให้ออกไปยังประตูเมืองด้านนี้ ไปยังกระท่อมมุงหนังของตน

    พระโพธิสัตว์อยู่ในกระท่อมของตนกับนางทิฏฐมังคลิกา โดนไม่เกี่ยวข้องกับนางเลยตลอด 7- 8 วัน ระหว่างนั้นท่านคิดว่าจะมีทางใดที่จะทำให้นางทิฏฐมังคลิกาได้เกียรติ ได้ยศ และได้บริวาร เมื่อเห็นว่าถ้าท่านยังอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่ได้มีทางจะทำให้นางทิฏฐมังคลิกาได้เกียรติ ได้ยศ ได้บริวารได้ เพราะฉะนั้นก็ออกบวชเจริญฌานสมาบัติ จนกระทั่งได้อภิญญา เมื่อบรรลุอภิญญาแล้ว ก็กลับไปบอกนางทิฏฐมังคลิกาว่า ให้นางป่าวประกาศให้ทั่วพระนครว่า สามีของนางไม่ใช่จัณฑาล แต่เป็นท้าวมหาพรหม และให้ประกาศว่า อีก 7 วัน ซึ่งจะเป็นวันอุโบสถนั้น ท้าวมหาพรหมสามีของนาง จะเหาะลงมาจากวงพระจันทร์ และเมื่อถึงวันนั้นก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น พวกมหาชนเมื่อเห็นดังนั้น ก็พากันมาแวดล้อมนางทิฏฐมังคลิกา เรียกนางว่าพรหมประชาบดี และปรึกษากันที่จะเชิญนางเข้าไปอยู่ในพระนคร โดยหามไปด้วยวอทอง ไม่ให้คนที่ชาติไม่บริสุทธิ์ 7 ชั่วคนหาม แต่ให้พราหมณ์ผู้มีชาติและมนต์ 16 คนหามไป คนที่เหลือบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น เข้าสู่พระนคร และได้สร้างมณฑปให้นางอยู่

    ตั้งแต่นั้นมา คนทั้งหลายได้ยืนพอเห็นนาง แต่ว่าเข้าใกล้ไม่ได้ เมื่อต้องการจะไหว้ก็ต้องให้ 1 กหาปนะ จึงไหว้ได้ ผู้ที่ต้องการไหว้ในที่รอบๆ พอได้ยินเสียง ต้องให้ 100 กหาปนะ จึงไหว้ได้ ผู้ที่ต้องการไหว้ในที่ใกล้ ซึ่งเป็นที่ได้ยินเสียงพูดปกติ ต้องให้ 500 กหาปนะจึงไหว้ได้ ผู้ที่ต้องการวางศีรษะที่เท้าแล้วไหว้ ต้องให้ 1000 กหาปนะจึงไหว้ได้ ผู้ที่ต้องการน้ำชำระเท้า ต้องให้ หมื่นกหาปนะจึงได้

    มีใครต้องการไหมคะน้ำล้างเท้า 1 หมื่นกหาปนะ เพราะคิดว่านั่นเป็นมงคล แม้แต่พระราชาซึ่งจะทำพิธีราชาภิเษก ก็ยังต้องการน้ำชำระเท้าของนางทิฏฐมังคลิกา เพราะฉะนั้นพระราชาก็ต้องให้เงินถึง1 หมื่นกหาปนะด้วย นายมาตังคะซึ่งเป็นคนจัณฑาล เป็นผู้อยู่บ้านมุงหนัง ก็ได้จบชีวิตในสังสารวัฏฏ์ ด้วยการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม พระองค์นี้

    เพราะฉะนั้นทุกคนในขณะนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่ยากไร้ถึงขนาดนายมาตังคะ ก็น่าที่จะมีโอกาส ที่จะได้อบรมเจริญปัญญา แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาติหนึ่ง

    ถ้าจะดูตัวอย่างบุคคลในครั้งก่อนการตรัสรู้ จนถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ก็จะเห็นได้ว่าท่านเหล่านั้น ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ก็มีปัญญาที่ได้สะสมมาด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อถึงโอกาสที่ปัญญาจะสมบูรณ์ ถึงขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพียงแต่ว่า ถ้าทุกคนจะคิดถึงประโยชน์ของการเกิดมามีชีวิตเป็นมนุษย์ในขณะนี้ ซึ่งทุกคนย่อมมีทางเดินของชีวิต ซึ่งมี 2 ทางคือ ทางหนึ่งเลือกที่จะหมุนเข้าให้จมลึกอยู่ในปลักของสังสารวัฏฏ์ต่อไป หรือว่าเลือกที่จะหมุนออกจากเกลียวของสังสารวัฏฏ์ไปทีละเล็กทีละน้อย


    หมายเลข 2359
    16 ต.ค. 2566