ทูตชาดก
ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก ทูตชาดก พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภ การสรรเสริญปัญญาของพระองค์ ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงถ้อยคำปรารภพระคุณของพระศาสดา ในโรงธรรมสภา ว่า
ย้อนกลับไปในสมัยโน้น ที่พระวิหารเชตวัน ในขณะนั้น พระสาวกกำลังสนทนากัน ถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคว่า อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงดูความเป็นผู้ฉลาดในอุบายของพระทศพลเถิด พระองค์ทรงแสดงนางอัปสรทั้งหลายแก่นันทะกุลบุตร แล้วประทานพระอรหัต ทรงประทานผ้าเก่าแก่พระจุฬปันถก แล้วประทานพระอรหัตพร้อมด้วยพระปฏิสัมภิทา ทรงประทานดอกปทุมแก่นายช่างทอง แล้วประทานพระอรหัต พระองค์ทรงแนะสัตว์ทั้งหลายด้วยอุบายต่างๆ อย่างนี้
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายบัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายมิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้นที่ตถาคตป็นผู้ฉลาดในอุบาย โดยรู้อุบายว่า นี้เป็นดังนี้ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน แล้วตรัสเล่าเรื่องความเป็นมาในอดีต
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ชนบทไม่มีเงินใช้ เพราะพระเจ้าพรหมทัตทรงบีบบังคับชาวชนบท ขนเอาทรัพย์ไปหมด ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ.กาสิกะคาม ครั้นเจริญวัยแล้วได้ไปเมืองตักศิลา กล่าวกับอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าจะเที่ยวขอเขาโดยธรรม แล้วจักนำเอาทรัพย์มาให้อาจารย์ภายหลัง คือขอเรียนก่อนแล้วจะนำทรัพย์มาให้ภายหลัง แล้วท่านก็เริ่มเรียนศิลปะศาสตร์ เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ก็บอกอาจารย์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมจะไปนำทรัพย์ค่าจ้างสอนมาให้ท่าน และได้ออกไปตามชนบท แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทองคำเจ็ดลิ่ม จะเอาไปให้อาจารย์ แต่ในระหว่างทางได้ลงเรือข้ามแม่น้ำคงคา ขณะที่เรือโคลงไปมา ทองคำของพระโพธิสัตว์ตกน้ำหมด พระโพธิสัตว์คิดว่า เงินทองเป็นของหายาก เมื่อเราจะแสวงหาทรัพย์ค่าจ้างสอนตามชนบทก็จะเนิ่นช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรนั่งอดอาหารอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา พระราชาจะทรงทราบความที่เรานั่งอยู่โดยลำดับ ก็จะส่งพวกอำมาตย์มา เราจะไม่พูดจากับอำมาตย์เหล่านั้น (ผู้ที่มีปัญญาจะมีความคิดซึ่งผู้อื่นคาดไม่ถึง) ลำดับนั้นพระราชาจะเสด็จมาเอง เราจะได้ทรัพย์ค่าจ้างสอนในสำนักของพระราชาด้วยอุบายนี้
เมื่อท่านคิดอย่างนี้ ท่านห่มผ้าสาฎกเฉวียงบ่า เอายันต์และสายสิญจน์วงไว้โดยรอบ นั่งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ประดุจรูปปฏิมาทองคำบนพื้นทราย ซึ่งมีสีดังแผ่นเงินฉะนั้น มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอดอาหารอยู่ จึงถามว่าท่านนั่งทำไม พระโพธิสัตว์ไม่ได้กล่าวแก่ใครๆ สักคำเดียว วันรุ่งขึ้น ผู้ที่อยู่บ้านใกล้ประตูพระนครได้ฟังว่า พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่นั้น ก็พากันไปถาม พระโพธิสัตว์ไม่ได้กล่าวอะไรแม้แต่คำเดียวกับคนเหล่านั้น ชนเหล่านั้นเห็นความลำบากของพระโพธิสัตว์ ก็พากันคร่ำครวญหลีกไป คนก็สงสาร ในวันที่ 3 ชาวพระนครพากันมา ในวันที่ 4 อิสรชนพากันมาจากพระนคร พวกมียศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ ก็มา ในวันที่ 3 ราชบุรุษพากันมา ในวันที่ 6 พระราชาทรงส่งพวกอำมาตย์มา พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้กล่าวแม้แต่ชนเหล่านั้น ในวันที่ 7 พระราชาทรงกลัวภัยจึงเสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสพระคาถาที่ 1 ว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราส่งทูตทั้งหลายมาเพื่อท่านผู้เคร่งอยู่ ณ.ฝั่งแม่น้ำคงคา ทูตทั้งหลายถามท่าน ท่านมิได้บอกให้แจ่มแจ้ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ท่าน เป็นความตายของท่านมิใช่หรือ (ต้องเป็นเรื่องใหญ่โตแน่ มิฉะนั้นคงไม่มานั่งเฉยๆ ไม่พูดจากับใครตลอด 7 วัน) พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์จะบอกแก่ผู้ที่สามารถจะนำทุกข์ไปได้เท่านั้น ไม่บอกแก่คนอื่น แล้วได้กล่าวคาถา 7 คาถา ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐกาสีให้เจริญ ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ใดไม่พึงเปลื้องทุกข์จากพระองค์ได้ พระองค์อย่าได้ตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่ผู้นั้น
ทุกคนมีความทุกข์ แต่ผู้ที่ฉลาดจะพิจารณาว่า จะบอกหรือไม่บอกใคร เพราะเหตุว่าถ้าคนอื่นช่วยไม่ได้ หรือคนที่จะบอกช่วยไม่ได้ ก็เท่ากับว่าไปยกทุกข์ให้กับคนอื่น คือไปพลอยให้เขาเป็นทุกข์ลำบากไปด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้นผู้ที่ฉลาดก็จะต้องรู้ว่าควรที่จะบอกกับใคร
ท่านกล่าวว่า ผู้ใดเปลื้องทุกข์ของบุคคลผู้เกิดทุกข์ได้ส่วนเดียวโดยธรรม พึงบอกเล่าแก่ผู้นั้นได้โดยแท้ ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านัก เคยสังเกตเสียงนกเสียงสัตว์บ้างไหม ถ้าเข้าไปในป่า เสียงสัตว์จะบอก ถ้าเป็นนกจะร้องเสียงแสดงเตือนพวกเดียวกันให้รู้ว่า กำลังมีคนแปลกปลอม หรือว่า มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าไปเข้าใจภาษานก แต่เสียงนกมีหลายเสียง เสียงซึ่งเตือนพวกเดียวกันก็มี เพราะฉะนั้นเสียงของสัตว์รู้ได้ไม่ยาก แต่เสียงมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น
อนึ่งผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้ ผู้ใดถูกถามเนืองๆ ถึงทุกข์ของตน ย่อมบอกในกาละไม่ควร ผู้นั้นย่อมมีแต่มิตรผู้แสวงหาประโยชน์ แต่ไมยินดีร่วมทุกข์ด้วยบุคคลผู้รู้กาละอันควรและรู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญา มีใจร่วมกันแล้ว พึงบอกความทุกข์ทั้งหลายแก่บุคคลเช่นนั้น นักปราชญ์บอกความทุกข์ร้อนแก่บุคคลอื่น พึงเปล่งวาจาอ่อนหวานมีประโยชน์ อนึ่งถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่าประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อความทุกข์สำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ นักปราชญ์เมื่อเพ่งเล็งหิริและโอตตัปปะอันเป็นของจริง พึงอดกลั้นความทุกข์ร้อนไว้ผู้เดียวเท่านั้น อนึ่งถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่าประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ โลกธรรมมี 8 มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขมีทุกข์ เพราะฉะนั้นประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ คือแต่ละคนจะมีแต่ความสุขอย่างเดียว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีความทุกข์ ก็ขอให้ระลึกว่าไม่ใช่เราคนเดียว และเราก็จะไม่ได้มีแต่เฉพาะความสุขอย่างเดียวเท่านั้น ทุกคนในโลกต้องมีทั้งสุขและทุกข์ด้วย
พระโพธิสัตว์ครั้นแสดงธรรมถวายพระราชาด้วยคาถา 7 คาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงตนที่จะแสวงหาทรัพย์เพื่ออาจารย์ ได้กล่าวคาถา 4 คาถาว่า ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์ต้องการจะหาทรัพย์ที่อาจารย์ จึงเที่ยวไปทั่วแว่นแคว้น นิคมและราชธานีทั้งหลาย ขอกับคฤหบดี ราชบุรุษ และพราหมณ์มหาศาล ได้ทองคำ 7 ลิ่ม ทองคำ 7 ลิ่มของข้าพระองค์ นั้นหายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก ข้าแต่พระมหาราชบุรุษ ผู้เป็นทูตของพระองค์เหล่านั้น ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า ไม่สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงไม่บอกแก่บุรุษเหล่านั้น ข้าแต่พระมหาราช ส่วนพระองค์ ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่าพระองค์สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระราชาผู้บำรุงรัฐกาสีใหญ่ มีพระหฤทัยเลื่อมใส ได้พระราชทานทองคำ 14 แท่งแก่พระโพธิสัตว์นั้น พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทแก่พระราชาแล้ว ให้ทรัพย์แก่อาจารย์ บำเพ็ญกุศล มีทานเป็นต้น แม้พระราชาก็ดำรงอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตย์ ครองราชย์สมบัติโดยธรรม แล้วชนทั้งสองก็ไปตามยถากรรม
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ อาจารย์ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนมานพ คือเราตถาคต นั่นแล
สังสารวัฏฏ์ยาวนานเหลือเกิน กว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ผลัดกันเป็นครูอาจารย์ เพราะเหตุว่าในชาตินั้น ท่านพระสารีบุตรเป็น อาจารย์ และพระผู้มีพระภาคเป็นมานพ ส่วนท่านพระอานนท์เป็นพระราชา
เพราะฉะนั้นในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน แล้วก็ผลัดกันเป็นครูบ้าง เป็นอาจารย์บ้าง ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่รู้ธรรม หรือเข้าใจธรรม ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ทางโลกไปเสียทุกอย่างหรือว่าผู้ที่เฉลียวฉลาดในทางโลก ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้ธรรมเท่าทางโลก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ก็ย่อมจะรู้ว่า ไม่ควรที่จะเป็นผู้ที่ทะนงตนหรือสำคัญตน แต่ควรจะเป็นผู้ที่อ่อนน้อมและสะสมการกระทำทุกอย่างที่ถูกที่ควรเพื่อละคลายอกุศล