แยกฆนะสัญญาโดยสติสัมปชัญญะเกิด


    ผู้ฟัง คำว่า ฆนสัญญา หมายถึง ยึดถือสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนระหว่างรูปกับรูป หรือว่ารูปกับนาม (ด้วยกัน) ทั้งรูปกับรูป ว่ารูปเย็นไม่ใช่รูปร้อน ไม่ใช่รูปอ่อน รูปแข็ง

    ท่านอาจารย์ เวลานี้รวมกันหมดแล้ว ก็ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะว่าฟังดูรู้สึกจะระลึกยาก ลักษณะความต่างกันของรูปกับรูป

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจะระลึกให้เห็นความต่าง ก็เป็นความยาก แต่ทำไมไม่ระลึกแล้วเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ก็อย่างสติปัฏฐานนี้ ท่านแสดงกาย เวทนา จิต ธรรม ท่านก็แสดงแยกออกมาเป็นหมวด ว่าเวทนาก็ไม่ใช่กาย จิตก็ไม่ใช่ธรรม ท่านก็แสดงแยกมาเป็นหมวดๆ อยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ใช่ธรรม หรือจิตเป็นวิญญาณขันธ์

    ผู้ฟัง จิตเป็นวิญญาณขันธ์ จิตก็ไม่ใช่เวทนา จิตก็ไม่ใช่กาย

    ท่านอาจารย์ แต่จิตจะไม่ใช่ธรรมไม่ได้เลย ต้องเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนี้หรือไม่ที่กล่าวถึงว่าแยกฆนะสัญญา

    ท่านอาจารย์ ยังค่ะ นี้ชื่อทั้งนั้น ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นเริ่มที่จะเข้าใจสภาพธรรม เป็นการแยกฆนะสัญญา โดยสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง เริ่มต้นจากรูป และนามก่อน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง รู้ลักษณะของนาม เพราะว่าเราฟังเรื่องนาม แต่ว่าลักษณะของนามจริงๆ แต่ละนาม ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึก ก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง เกิดจากปัญญาที่สะสมมา ที่จะสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นรูป ไม่ใช่นาม นามไม่ใช่รูป แต่ถ้าเกิดปัญญาในขั้นที่ประจักษ์ ไม่ทราบว่า ที่ประจักษ์เห็นความเกิดดับ เป็นประจักษ์ด้วยปัญญาหรือว่าจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาแน่นอน

    ผู้ฟัง งั้นก็แสดงว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นความเกิดดับของรูปผ่านทางจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้ได้

    ผู้ฟัง ปัญญารู้ แล้วปัญญารู้ต่างจากจิตเห็นรู้ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้เหมือนเห็น คิดดูก็แล้วกัน รู้อย่างไรที่จะเหมือนเห็น ชัดเจนระดับไหน ที่เหมือนเห็น (เหมือนกับเป็นจักขุวิญญาณที่เห็น) ไม่ใช่เห็นสี ปัญญาคือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ความรู้ถูก ในลักษณะของสภาพนั้นตามความเป็นจริง เป็นความเข้าใจถูกระดับเห็น

    ผู้ฟัง เทียบได้กับจักขุวิญญาณไหม

    ท่านอาจารย์ จักขุวัญญาณเห็นสี เหมือนการเห็นขณะนี้ซึ่งเห็น แจ่มแจ้งชัดเจนใช่ไหม คุณวรศักดิ์จะคิดถึงสิ่งที่เคยเห็น กับขณะที่กำลังเห็นต่างกันไหม (ต่างกัน) เพราะฉะนั้นฉันใด การประจักษ์แจ้งก็คือเหมือนกับเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่เหมือนแต่คิดเรื่องที่เคยเห็น

    ผู้ฟัง ก็คือต่อหน้าต่อตา ชัดเจน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง


    หมายเลข 2376
    4 ต.ค. 2567