คำถามเกี่ยวกับจิตและเจตสิก


    ถาม ข้อ ๑. ที่ว่าจิตเกิดมี มีอยู่ที่ไหน อยู่ข้างนอกหรือข้างใน

    ข้อ ๒. จิตดับๆ ไปแล้วไม่เกิดอีก ก็ดับ แสดงว่าสูญแล้ว

    ข้อ ๓. ตเกิดดับสืบต่อกันเหมือนลูกโซ่ แต่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรืออยู่ใกล้ชิดกัน จริงหรือ จิตไวมากจนเราจะเอาอะไรวัดได้หรือไม่ ลองหาข้อเปรียบดูให้ด้วย

    ข้อ ๔. ปัญญากับจิตเกิดพร้อมกันหรือต่างกันเกิด

    มีคนป่วยคนหนึ่งมีเวทนาเกิดแรงกล้า แต่อาศัยว่าเคยเป็นผู้ปฏิบัติมาก่อน จึงได้นำเอาอาการเวทนาเหล่านั้นมาพิจารณา จึงสงบลงได้ ดังนี้จะเรียกว่ามีสติ แล้วเกิดสมาธิได้หรือไม่ มีปัญญาหรือไม่ ถ้าเกิดดับไปในขณะนั้น จะไปเกิดเป็นอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ คำถามสุดท้ายไม่มีใครตอบได้เลย และคำถามที่ว่า จะเรียกว่ามีสติแล้วเกิดสมาธิหรือไม่ ไม่สามารถที่จะรู้จิตของคนอื่นได้เพียงอาการภายนอก

    เพราะฉะนั้น การที่จะบอกว่าคนนี้นั่งเฉยๆ แล้วเป็นสมาธิ ไม่ถูกต้อง การที่จะเห็นคนหนึ่งนั่งเฉยๆ แล้วจะบอกว่า คนนี้มีปัญญา ก็ไม่ถูกต้องด้วย เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้จิตจาก อาการที่ปรากฏภายนอก

    ขอทบทวนตั้งแต่ข้อ ๑. ที่ว่าจิตเกิดมี มีอยู่ที่ไหน อยู่ข้างนอกหรือข้างใน

    จิตเห็นเกิดขึ้นที่ตา จิตได้ยินเกิดขึ้นที่หู จิตได้กลิ่นเกิดที่ฆานปสาทรูป จิตลิ้มรสเกิดที่ชิวหาปสาทรูปที่อยู่กลางลิ้น จิตที่รู้สิ่งกระทบสัมผัส รู้แข็งตรงไหน จิตเกิดตรงนั้นดับตรงนั้น เพราะฉะนั้น จิตไม่เกิดนอกตัว แต่จะต้องอาศัยรูปเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ข้อ ๒. จิตดับไปแล้ว ไม่เกิดอีก ก็แสดงว่าดับสูญแล้ว

    แม้ว่าจิตดวงก่อนจะดับ แต่ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น จิตเกิดดับตั้งแสนโกฏิกัปป์จนถึงขณะนี้ แล้วก็จะเกิดดับสืบต่อกันไปอีก ถ้าไม่ปรินิพพาน

    ข้อ ๓. จิตเกิดดับติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ แต่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือ อยู่ใกล้ชิตกันจริงหรือ จิตไวมากจนเราจะเอาอะไรวัดได้หรือไม่ลองเปรียบดูให้ด้วย ในพระสูตรแสดงความเร็วของจิตไว้มาก ซึ่งเป็นข้อความที่ไพเราะที่พระคุณเจ้าจะพบในพระสูตรหลายสูตรเจ้าค่ะ

    ข้อ ๔. ปัญญากับจิตเกิดพร้อมกันหรือต่างกันเกิด

    ปัญญาเป็นเจตสิก ซึ่งต้องเกิดกับจิต ปัญญาจะเกิดโดยที่ไม่มีจิตไม่ได้เลย แต่ว่าจิตเกิดโดยไม่มีปัญญาได้ เช่น จิตเห็นในขณะนี้ที่เกิดขึ้น ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตได้ยินก็ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นปัญญาต้องเกิดกับจิต เพราะเหตุว่าปัญญาเป็นเจตสิก

    ถาม ขอถามเรื่องจิตที่ประกอบสมาธิ กับจิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มีลักษณะอาการต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สมาธิได้แก่เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ แต่สำหรับสติ และปัญญานั้นเกิดกับจิตที่เป็นโสภณจิต เป็นจิตที่ดีงามเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขณะนั้นมีเอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิเกิดร่วมด้วย อย่างคนที่จะยิงปืนยิงลูกศรพวกนี้ต้องมีสมาธิ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่มีสติ และปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น จิตที่ประกอบด้วยสมาธิ และจิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มีลักษณะอาการต่างกันอย่างไร

    ต่างกัน คือ บางครั้งเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลจิต แต่ว่าขณะใดที่เป็นสัมมาสมาธิ ขณะนั้นต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะด้วย


    หมายเลข 2413
    28 ก.ค. 2567