คามณิจันทชาดก ตอนที่ ๑


    ขอกล่าวถึงความคิดนึกของบุคคลในอดีต ใน อรรถกถา ติกนิบาตชาดก คามณิจันทชาดก ซึ่งมีข้อความว่า

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการสรรเสริญปัญญา จึงตรัสเรื่องนี้

    ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายนั่งสรรเสริญพระปัญญาของพระทศพลในโรงธรรมสภาว่า

    ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาหนา มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาไว มีพระปัญญากล้าแข็ง มีพระปัญญาชำแรกกิเลส ก้าวล่วงโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกด้วยพระปัญญา

    พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า

    ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร

    เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า

    ภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็มีปัญญาเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้

    ชาตินี้ทุกคนก็มีปัญญาคนละนิดคนละหน่อย และจะเพิ่มขึ้นๆ ต่อไปอีก ชาติหนึ่งๆ ก็จะมีปัญญาเพิ่มขึ้นอีกๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญญาซึ่ง เจริญขึ้น ไม่ใช่ว่าปัญญาที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจะเกิดขึ้นได้ฉับพลัน โดยไม่มีการสะสม ไม่มีการเจริญปัญญาในอดีตเลย

    ในอดีตกาล สมัยพระราชาพระนามว่า ชนสันธะ ครองราชย์สมบัติอยู่ใน นครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์นั้น เกลี้ยงเกลาบริสุทธิ์ดุจพื้นแว่นทองคำ ถึงความงาม อันเลิศยิ่ง ด้วยเหตุนั้นในวันตั้งชื่อ ญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อของพระโพธิสัตว์นั้นว่า อาทาสมุขกุมาร

    ภายใน ๗ ปีเท่านั้น พระชนกให้กุมารนั้นศึกษาพระเวททั้ง ๓ และสิ่งทั้งปวง ที่จะพึงทำในโลก แล้วได้สวรรคตในเวลาที่พระกุมารนั้นมีอายุ ๗ ขวบ อำมาตย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระศพของพระราชาด้วยบริวารใหญ่โต แล้วถวายทาน เพื่อผู้ตาย ในวันที่ ๗ ประชุมกันที่พระลานหลวงหารือกันว่า พระกุมารยังเด็กเกินไป ไม่อาจอภิเษกให้ครองราชย์ได้ พวกเราจักทดลองพระกุมารนั้นแล้วจึงค่อยอภิเษก

    สำหรับเรื่องการทดลองต่างๆ ท่านผู้ฟังจะอ่านความละเอียดได้จาก อรรถกถา คามณิจันทชาดกที่ ๗

    เมื่อได้ทดลองความคิดและพระปัญญาของพระกุมารแล้วเห็นว่า พระกุมาร ทรงเป็นบัณฑิต จึงอภิเษกให้ครองราชสมบัติ

    เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงครองราชย์สมบัติแล้ว บุรุษผู้หนึ่งชื่อคามณิจันท์ ผู้เคยเป็นคนรับใช้ของพระราชบิดา คิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า ความเป็นพระราชานี้ย่อมจะงดงามกับคนผู้มีวัยเสมอกัน ส่วนเราเป็นคนแก่จักไม่เหมาะที่จะบำรุง พระกุมารหนุ่ม เราจักทำนาเลี้ยงชีพอยู่ในชนบท

    เขาจึงออกจากพระนครไปยังที่ไกลประมาณ ๓ โยชน์ สำเร็จการอยู่ในบ้าน แห่งหนึ่ง แต่เขาไม่มีแม้แต่โคสำหรับจะทำนา เมื่อฝนตก เขาจึงขอยืมโค ๒ ตัว จากสหายคนหนึ่ง ไถนาอยู่ตลอดทั้งวันแล้วให้โคกินหญ้า แล้วได้ไปยังเรือน เพื่อจะมอบโคทั้ง ๒ ตัวให้กับเจ้าของ

    ขณะนั้น เจ้าของโคกำลังนั่งบริโภคอาหารอยู่กลางบ้านพร้อมกับภรรยา ฝ่ายโคทั้งสองตัวก็เข้าไปยังบ้านด้วยความคุ้นเคย เมื่อโคเหล่านั้นเข้าไป สามียกถาด ภรรยาก็เอาถาดออกไป นายคามณิจันท์มองดูด้วยคิดว่าสามีภรรยาทั้งสองนี้จะ เชื้อเชิญเรารับประทานข้าว จึงยังไม่มอบโคให้ แล้วรีบกลับไปเสีย

    นี่ก็เป็นความคิด ซึ่งแต่ละคนก็คิดๆ ไปในวันหนึ่งๆ แล้วแต่ว่าจะคิดอะไร ในชาติหนึ่งๆ

    ในเวลากลางคืน พวกโจรตัดคอก ลักโคเหล่านั้นแหละไปเสีย เจ้าของโค เข้าไปยังคอกโคแต่เช้าตรู่ ไม่เห็นโคเหล่านั้น แม้จะรู้อยู่ว่าถูกพวกโจรลักไป แต่ก็เข้าไปหานายคามณิจันท์นั้นด้วยตั้งใจว่า จักปรับเอาสินไหมแก่นายคามณิจันท์

    นี่แสดงถึงความคิด คนในสมัยนี้จะคิดอย่างนี้บ้างไหม ก็ต้องมี ใช่ไหม ทั้งๆ ที่รู้ แต่ความที่อยากจะได้เงินสินไหมทดแทนโคที่ถูกโจรลักไป จึงไปหา นายคามณิจันท์

    แล้วกล่าวว่า ท่านจงมอบโคทั้งสองให้เรา

    นายคามณิจันท์กล่าวว่า โคเข้าบ้านไปแล้วมิใช่หรือ

    เจ้าของโคกล่าวว่า ท่านมอบโคเหล่านั้นแก่เราแล้วหรือ

    นายคามณิจันท์กล่าวว่า ยังไม่ได้มอบ

    เจ้าของโคกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเรื่องนี้เป็นความอาญาสำหรับท่าน ท่านจงมา

    ในชนบทเหล่านั้น เมื่อใครๆ ยกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นจะเป็นก้อนกรวดหรือ ชิ้นกระเบื้องก็ตาม แล้วกล่าวว่า นี้เป็นความอาญาสำหรับท่าน ท่านจงมา ดังนี้ ผู้ใดไม่ไป ก็ย่อมลงอาญาแก่ผู้นั้น เพราะฉะนั้น เมื่อนายคามณิจันท์ได้ฟังว่า เป็นความอาญา ก็ออกไปกับเจ้าของโคนั้น เพื่อไปยังราชสกุลเพื่อให้วินิจฉัยความ

    เขาได้ไปถึงบ้านเพื่อนคนหนึ่ง เขาหิวมาก จึงให้เจ้าของโครออยู่ และ ขอเข้าไปในบ้านเพื่อนเพื่อที่จะรับประทานอาหารแล้วจะกลับออกมา ปรากฏว่าเพื่อนของเขาไม่อยู่บ้าน ภรรยาเพื่อนก็บอกว่า อาหารที่หุงต้มสุกแล้วไม่มี ท่านจงรอสักครู่ ดิฉันจักหุงให้ท่านเดี๋ยวนี้ แล้วรีบขึ้นฉางข้าวสารทางพะอง จึงพลัดตกไปที่พื้นดิน แท้งลูกในครรภ์ที่มีอายุได้ ๗ เดือน

    อะไรจะเกิดก็เกิดได้ทั้งนั้น และฟังดูก็เหมือนนิยาย ซึ่งชีวิตของแต่ละคนฟังดู ก็คล้ายนิยาย บางคนก็บอกว่า คล้ายๆ นิยายน้ำเน่าด้วย ไม่ใช่นิยายธรรมดา แต่ตามความเป็นจริง ผู้ที่มีชีวิตอย่างนั้น เจ้าของเรื่องรู้ว่าไม่ใช่น้ำเน่าเลย และคนที่ รู้เรื่องชีวิตของแต่ละคนก็รู้ว่าไม่ใช่น้ำเน่า แต่เป็นเรื่องจริงซึ่งหลายคนคิดไม่ถึง คาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปอย่างนั้นในอดีตกาล จนแม้ในสมัยนี้

    สามีของนางกลับมาเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า ท่านทำให้ภรรยาของเราแท้งลูก นี้เป็นความอาญาของท่าน แล้วพานายคามณิจันท์นั้นออกไป ให้นายคามณิจันท์ อยู่กลางเจ้าความทั้ง ๒ คดี

    ครั้งนั้น ที่ประตูบ้านแห่งหนึ่ง คนเลี้ยงม้าไม่สามารถต้อนม้าให้กลับบ้าน คนเลี้ยงม้าเห็นนายคามณิจันท์จึงกล่าวว่า ลุงคามณิจันท์ช่วยเอาอะไรๆ ปาม้าตัวนี้ ให้กลับทีเถิด นายคามณิจันท์จึงเอาหินก้อนหนึ่งขว้างไป ก้อนหินนั้นกระทบขาม้าหักเหมือนท่อนไม้ละหุ่งฉะนั้น คนเลี้ยงม้าได้กล่าวกะนายคามณิจันท์ว่า ท่านทำขาม้าของเราหัก นี้เป็นความอาญาสำหรับท่าน แล้วจับตัวไป

    ฝ่ายนายคามณิจันท์นั้น เมื่อถูกคนทั้ง ๓ นำไป จึงคิดว่า คนเหล่านี้จักแสดงเราแก่พระราชา แม้มูลค่าราคาโค เราก็ไม่อาจให้ได้ จะป่วยกล่าวใยถึงอาญาที่ ทำให้ภรรยาเพื่อนแท้งบุตร ก็เราจักได้มูลค่าม้ามาแต่ไหน เราตายเสียดีกว่า

    เขาเดินไปเห็นภูเขาลูกหนึ่งซึ่งมีหน้าผาชันข้างหนึ่ง ณ ที่ใกล้ทางในดง ระหว่างทาง ช่างสาน ๒ คนพ่อลูก สานเสื่อลำแพนอยู่ในร่มเงาของภูเขานั้น

    นายคามณิจันท์กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำธุระส่วนตัว ท่านทั้งหลาย จงรออยู่ที่นี้แหละสักครู่จนกว่าข้าพเจ้าจะมา แล้วขึ้นไปยังภูเขานั้น กระโดดลงไปทางด้านหน้าผา ตกลงไปบนหลังช่างสานผู้เป็นพ่อ ช่างสานผู้เป็นพ่อนั้นถึงแก่ความตายทันที แต่นายคามณิจันท์ไม่ตาย

    ช่างสานผู้บุตรกล่าวว่า ท่านเป็นโจรฆ่าพ่อฉัน นี้เป็นความอาญาสำหรับท่าน แล้วจับมือนายคามณิจันท์ลากออกจากพุ่มไม้ ตั้งแต่นั้นมา ชนทั้ง ๔ คน ให้นายคามณิจันท์อยู่กลาง พากันห้อมล้อมไป

    ชีวิตที่ตกอับก็เป็นไปได้ทุกอย่าง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันไหน

    ระหว่างทางเขาได้พบปะผู้คนซึ่งล้วนแต่มีปัญหาในชีวิต ซึ่งก็ได้ฝากปัญหา ของตนให้นายคามณีจันท์ไปทูลถามพระราชาผู้ทรงเป็นปราชญ์ เพื่อให้พระองค์ทรงวิสัชนาปัญหานั้นๆ แก่ตน รวมทั้งหมด ๑๐ ปัญหาด้วยกัน

    เจ้าของโคได้พานายคามณิจันท์เข้าเฝ้าพระราชา


    หมายเลข 2441
    16 ต.ค. 2566