คามณิจันทชาดก ตอนที่ ๒
พระราชาพอทรงเห็น นายคามณิจันท์ก็จำได้ ทรงพระดำริว่า นายคามณิจันท์เป็นผู้รับใช้พระชนกของเรา พอเราขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วก็หลีกไปจนเดี๋ยวนี้ จึงตรัสถามเรื่องราว ความเป็นอยู่ และเหตุที่เขามาเฝ้า
นายคามณิจันท์กราบทูลว่า ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า จำเดิมแต่พระชนกของพระองค์สวรรคตแล้ว ข้าพระองค์ไปอยู่ชนบท กระทำกสิกรรมเลี้ยงชีพ แต่นั้น บุรุษผู้นี้ได้แสดงความอาญาเพราะเหตุเกี่ยวกับคดีเรื่องโค จึงคร่าตัวข้าพระองค์มาเฝ้าพระองค์พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสว่า ท่านไม่ถูกคร่าตัวมาก็คงไม่มา เพราะเหตุนั้น ความที่ท่านถูกคร่าตัวมา นั่นแหละดีแล้ว บัดนี้ บุรุษผู้นั้นอยู่ที่ไหน
นายคามณิจันท์กราบทูลว่า คนนี้พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสถามว่า ผู้เจริญ ได้ยินว่า ท่านฟ้องความอาญาแก่นายคามณิจันท์ของเราจริงหรือ
เจ้าของโคทูลว่า จริงพระเจ้าข้า
พระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไร
เจ้าของโคทูลว่า เพราะนายคามณิจันท์นี้ไม่คืนโค ๒ ตัวให้แก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสว่า ที่เขาว่า จริงหรือ จันทะ
นายคามณิจันท์ทูลว่า ขอเดชะ ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์โปรดทรงสดับต่อข้าพระองค์เถิด แล้วกราบทูลเรื่องราวทั้งปวงให้ทรงทราบ
พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเจ้าของโคว่า ผู้เจริญ เมื่อโคเข้าบ้านของท่าน ท่านเห็นหรือเปล่า
เจ้าของโคทูลว่า ไม่เห็น พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสว่า ท่านไม่เคยได้ยินคนเขาพูดถึงเราว่า พระราชาพระนามว่าอาทาสมุขบ้างหรือ ท่านอย่าหวาดระแวงเลย จงบอกมาเถิด
เจ้าของโคทูลว่า ได้เห็นพระเจ้าข้า
พระราชาตรัสว่า คามณิจันท์ผู้เจริญ เพราะท่านไม่มอบโคให้เจ้าของ ค่าโคปรับเป็นสินไหมสำหรับท่าน แต่บุรุษนี้ทั้งที่เห็น พูดมุสาวาททั้งรู้ว่า ไม่เห็น เพราะฉะนั้น ท่าน นั่นแหละเป็นผู้ประกอบการควักนัยน์ตาทั้งสองข้างของบุรุษผู้นี้ และภรรยาของบุรุษ ผู้นี้ด้วย ส่วนตนเองให้กหาปณะ ๒๔ กหาปณะเป็นมูลค่าราคาโค
เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว นักการก็พาตัวเจ้าของโคออกไปข้างนอก เจ้าของโคนั้น คิดว่า เมื่อเขาควักลูกตาเสียแล้ว เราจักเอากหาปณะไปทำอะไร จึงหมอบลงแทบเท้าของนายคามณิจันท์แล้วกล่าวว่า ท่านคามณิจันท์ผู้เป็นนาย กหาปณะที่เป็นมูลค่าของโค จงเป็นของท่านเถิด และจงถือเอากหาปณะเหล่านี้ด้วย แล้วให้กหาปณะทั้งหลาย แม้อื่นๆ แล้วหนีไป
คราวที่จะพ้นเคราะห์ ก็พ้นไปคนหนึ่ง
ลำดับนั้น บุรุษคนที่ ๒ ทูลว่า ขอเดชะ นายคามณิจันท์นี้ประหารภรรยาของข้าพระองค์ ทำให้ครรภ์ตกไป
พระราชาตรัสถามว่า จริงหรือ จันทะ
นายคามณิจันท์ทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์โปรดทรงสดับ แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามนายคามณิจันท์นั้นว่า ก็ท่านประหารภรรยาของบุรุษผู้นี้ ทำให้ครรภ์ตกไปหรือ
นายคามณิจันท์ทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์มิได้ทำให้ตกไปพระเจ้าข้า
พระราชาตรัสถามบุรุษนั้นว่า ผู้เจริญ ท่านจะมีบุตรอีกได้ไหม
บุรุษนั้นทูลว่า ไม่อาจ พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสถามเขาว่า บัดนี้ท่านจะกระทำอย่างไร
บุรุษนั้นทูลว่า ข้าพระองค์ต้องการบุตรคืนมาพระเจ้าข้า
เรื่องใหญ่ ตายไปแล้ว จะเอาคืนมาได้อย่างไร แต่ความคิดของคนก็แสดง ให้เห็นว่า ช่างคิดได้สารพัดอย่าง
พระราชาตรัสว่า จันทะผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านเอาภรรยาของบุรุษผู้นี้ไปไว้ในเรือนของท่าน ในคราวที่นางคลอดบุตร จงนำบุตรนั้นมาให้บุรุษผู้นี้
ฝ่ายบุรุษผู้นั้นจึงหมอบลงแทบเท้าของนายคามณิจันท์ แล้วกล่าวว่า นายท่านอย่าทำลายเรือนของเราเลย
ได้ให้กหาปณะ แล้วหลีกหนีไป
จบไปอีกเรื่องหนึ่ง ต่อไปเป็นเรื่องที่ ๓
ลำดับนั้น บุรุษคนที่ ๓ มากราบทูลว่า
ขอเดชะ นายคามณิจันท์ทำเท้าม้าของข้าพระองค์หัก พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสถามว่า ที่เขาว่า จริงหรือ จันทะ
นายคามณิจันท์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอได้โปรดสดับ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามคนเลี้ยงม้าว่า
เขาว่าท่านพูดว่า จงขว้างม้าให้กลับ จริงหรือ
คนเลี้ยงม้านั้นทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ไม่ได้พูด พระเจ้าข้า
เขาถูกตรัสถามซ้ำ จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์พูดพระเจ้าข้า
นี่ก็โทษของมุสาวาท แทนที่จะได้ดีก็เลยไม่ได้
พระราชาตรัสเรียกนายคามณิจันท์มาตรัสว่า
จันทะผู้เจริญ บุรุษผู้นี้พูดแล้วกลับกล่าวมุสาวาทว่าไม่ได้พูด ท่านจงตัดลิ้นของเขา แล้วเอาของที่มีของเราเป็นมูลค่าม้าให้ไปพันหนึ่ง
คนเลี้ยงม้ากลับให้กหาปณะ แม้อื่นอีก แล้วหลบหนีไป
จบไปอีกเรื่องหนึ่ง ถึงคนสุดท้าย
ลำดับนั้น บุตรช่างสานกราบทูลว่า
ขอเดชะ นายคามณิจันท์นี้เป็นโจรฆ่าบิดาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสถามว่า ที่เขาว่า จริงหรือ จันทะ
นายคามณิจันท์กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
พระราชารับสั่งให้เรียกช่างสานมา แล้วตรัสถามว่า
บัดนี้ ท่านจะกระทำอย่างไร
ช่างสานทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ขอบิดาของข้าพระองค์คืนมา พระเจ้าข้า
พระราชาตรัสว่า จันทะผู้เจริญ การได้บิดาของช่างสานนี้คืนมาจึงจะควร ก็คนตายแล้วไม่อาจนำมาอีกได้ ท่านจงนำมารดาของช่างสานคนนี้มาไว้ในเรือนชองท่านแล้วเป็นบิดา ของช่างสานนี้
บุตรช่างสานกล่าวว่า นาย ท่านอย่าทำลายเรือนแห่งบิดาผู้ตายแล้วของข้าพเจ้าเลย ได้ให้กหาปณะแก่นายคามณิจันท์ แล้วหลบหนีไป
ก็เป็นเรื่องที่จะต้องระวังความคิดให้เป็นไปโดยแยบคาย ให้เป็นไปโดยกุศล มิฉะนั้นแล้วจะได้รับผลของความคิดที่ไม่ถูกต้อง
นายคามณิจันท์ได้ประสบชัยชนะ และได้กราบทูลเรื่องสาสน์ ๑๐ ปัญหาที่ มีผู้ถวายให้พระราชาทรงพิจารณา ซึ่งพระราชาได้ทรงวิสัชนาไปโดยลำดับ
นายคามณิจันท์นั้นออกจากพระนคร แล้วบอกข่าวสาสน์ทั้งสิ้นที่พระโพธิสัตว์ประทานมาแก่ผู้ฝากสาสน์ไปถวาย เสร็จแล้วไปยังบ้านของตนด้วยยศอันยิ่งใหญ่ ดำรงอยู่ชั่วอายุก็ได้ไปตามยถากรรม
ฝ่ายพระเจ้าอาทาสมุขทรงบำเพ็ญบุญทั้งหลาย มีทานเป็นต้น ในเวลา สิ้นพระชนมายุ ทรงบำเพ็ญทางสวรรค์ให้เต็ม แล้วเสด็จไป
พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีปัญญามากในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็มีปัญญามาก ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ชนเป็นอันมากได้เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
นายคามณิจันท์ในกาลนั้นได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนพระเจ้าอาทาสมุข ในกาลนั้น คือ เราตถาคต
จากนายคามณิจันท์ และก็คิดไปในแต่ละชาติ จนกระทั่งสังขารขันธ์ปรุงแต่ง แต่ละชาติ แต่ละชาติ สะสมกุศลเพิ่มขึ้นจนถึงชาติสุดท้ายได้เป็นท่านพระอานนท์ แต่สำหรับผู้ที่ยังสะสมกุศลไม่พอ ก็ต้องสะสมต่อไป และความคิดก็ยังจะคิดๆ คิดต่อไปไม่จบ ทุกชาติ จนกว่าจะถึงชาติที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม