ปัญญาขั้นฟังและขั้นพิจารณาปฐวีธาตุ
ผู้ฟัง เกิดการพิจารณาขึ้นแล้วตอนนี้ว่ามีแข็งอยู่ แล้วพิจารณาอยู่ อย่างนี้ใช่หรือเปล่า ปัญญาขั้นการฟัง และการพิจารณา ได้ต่อเนื่องกันแล้ว
อ.อรรณพ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการที่เราฟังธรรม ในเรื่องของ ปฐวีธาตุ หรือสภาพแข็ง ที่ท่านอธิบายไว้ในลักขณาทิจตุกะ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าบุคคลที่หนึ่งฟังแล้ว แม้เพียงฟังว่าธาตุแข็งมีลักษณะแข็ง ถ้าเป็นสุตมยปัญญา ปัญญานั้นไตร่ตรอง ตรง และมีจุดมุ่งที่จะเข้าใจหรือเป็นไปเพื่อการรู้ลักษณะแข็งจริงๆ ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นความเข้าใจแม้เพียงแค่คำว่าปฐวีธาตุ หมายถึงสภาพที่แข็ง ไม่ใช่เรา ขณะนั้นก็เป็นสุตมยปัญญา แล้วถ้าปัญญาก็มีการพิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งที่ได้ฟัง ว่าสภาพธรรมที่แข็ง เป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เราจริงๆ และไม่ว่าจะเป็นสุตมยปัญญา หรือจินตามยปัญญา เป็นไปเพื่อการที่สติจะเกิดขึ้น แล้วก็รู้ลักษณะแข็งจริงๆ เหมือนขั้นการฟัง เหมือนขั้นการพิจารณาตรง
แต่ถ้าอีกบุคคลหนึ่ง พอจะศึกษาในเรื่องของปฐวี ซึ่งมีลักษณะแข็ง ก็เพียงแต่ฟัง แล้วก็คิดนึกหรือพร้อมความจำว่าปฐวีธาตุก็คือลักษณะที่แข็ง ไม่ได้น้อมไปเพื่อที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ถือว่ามีความที่เข้าใจลึกลงไปว่า จริงๆ แล้ว ท่านไม่ได้แสดงเรื่องอื่น ท่านแสดงเรื่องที่มีอยู่จริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกายลักษณะแข็ง แต่ว่าเป็นเพียงแค่ รู้ว่าปฐวีหมายถึงแข็ง แข็งก็มีลักษณะแข็ง
ถ้าผู้ที่ศึกษาธรรมเราก็รู้ได้ว่าในชีวิตประจำวันที่เราดำเนินชีวิต ก็เป็นเพียงสภาพธรรม อกุศลธรรมเป็นส่วนใหญ่ กุศลธรรมบ้าง
เพราะฉะนั้นต่างกัน แม้จะศึกษาในเรื่องปฐวีธาตุ ถ้าเพียงแค่จำแล้วเพียงแต่คิดว่าเราเข้าใจแล้ว แต่ไม่ได้น้อมนำไปเพื่อการรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจะเป็นสุตมยปัญญาได้อย่างไร และในเมื่อไม่เป็นสุตมยปัญญาแล้ว จะไปเอาจินตามยปัญญาที่จะตรึกพิจารณาไตร่ตรองจากความเห็นถูก ขั้นการฟังได้อย่างไร ก็ไม่ต้องกล่าวถึงภาวนามยปัญญาต่อไป
ผู้ฟัง ที่กล่าวถึงเรื่องของว่า ความรู้ในเรื่องของการฟัง เรื่องปฐวีธาตุไม่ได้พอเพียง เพียงจะต้องรู้ว่าปฐวีธาตุไม่ใช่เรา ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่อะไรก็แล้วแต่เป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้นหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคุณอรรณพกล่าวถึงว่า เราควรจะต้องรู้เรื่องของกุศล และอกุศลด้วย เพราะขณะนั้น มันอาจจะเป็นการนึกถึงด้วยความต้องการ หรือนึกถึงด้วยความอยากจะรู้ หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง นึกถึงไปด้วยความที่เป็นปัญญาหรือไม่ กับเรื่องนั้นที่ฟังมา อย่างนั้นหรือ ต้องแยกเรื่องกุศลจากอกุศลก่อนด้วยใช่ไหม หรือว่าต้องรู้หลายๆ เรื่องหรืออย่างไร หรือว่าจะรู้แข็งได้
อ.อรรณพ อย่างเราเริ่มต้น ทุกท่านก็คงที่มาฟังธรรม ที่เรามาฟังกันที่นี่ เราก็ฟังเรื่องธรรมแต่ละอย่าง อย่างเช่นเรื่องแข็งนี้ก็ได้ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางกายนั้น คือลักษณะแข็ง มีลักษณะแข็ง มีสภาพแข็ง ไม่ใช่เราสัมผัสโต๊ะ ไม่ใช่เราสัมผัสเก้าอี้ ถ้าความเข้าใจเริ่มต้น เริ่มที่จะเห็นลางๆ แล้วว่า สิ่งที่เราเคยจำว่าเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ เราคิดนึกนะ แต่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางกายนี่คือลักษณะแข็งเท่านั้น ไม่เคยได้ยินมาเลย เพราะฉะนั้นปัญญาในขั้นการฟังตรงนั้น ก็เป็นสุตมยปัญญา แต่ฟังครั้งเดียวพอไหม (ไม่พอ) ไม่พอ เพราะว่าผู้ที่จะฟังเพียงครั้งเดียว หรือว่าฟังไม่มากนัก อย่างเช่นพระสารีบุตร ท่านก็สามารถที่จะมีปัญญาในขั้นสูงๆ ขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว จากการที่ท่านเคยสะสม เหมือนอย่างเรามาในอดีตนานแสนนาน เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง สุตมยปัญญา ก็ต้องเกิดอีก ไม่ใช่ว่าผู้ที่มีจินตามยปัญญาแล้ว หรือมีภาวนาปัญญาแล้ว จะลืมสุตมยปัญญา ลืมจินตามยปัญญาไปได้เลย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ก็มีการฟังขึ้น เมื่อมีการฟังใหม่อีก แล้วสุตมยปัญญานั้นก็ได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟังอีกมาก หรือสิ่งที่เคยฟังแล้ว ก็ชัดเจนเพิ่มขึ้นๆ นั่นคือประโยชน์ของการฟังพระธรรม
ส่วนในประเด็นของกุศล และอกุศล ก็ไม่พ้นจากเรื่องธรรม กุศลธรรม อกุศลธรรม ถ้าเราเพียงแต่ไม่ได้สนใจ เพียงแต่สนใจศึกษาอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าการที่เราศึกษานั้นเป็นไปเพื่อการเข้าใจธรรมตรงตามความเป็นจริงหรือเปล่า ในขณะนั้นเราก็ไม่สนใจว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล และโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน อกุศลก็มีมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องสอบทานตัวเอง ว่าการที่เราศึกษา น้อมไปเพื่อการเข้าใจความจริงหรือเปล่า หรือมีวัตถุประสงค์อื่น เพียงคิดว่าเข้าใจ เพราะเราอยากรู้เท่านั้น หรือเราอยากจะเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างไร แล้วก็ศึกษาในลักษณะของศาสตร์หนึ่งศาสตร์ใด นั่นก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ เพราะถ้าเราศึกษาแล้วเราเข้าใจ เราก็จะรู้ว่าเป็นไปเพื่อการละ มิฉะนั้นเราก็เพียงแต่ศึกษาเรื่องราวของพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเข้าใจ อยากรู้เท่านั้นเอง