ผู้ที่เจริญสมาธิมาแล้วก็เจริญสติได้


    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังถามเรื่อง “อานาปานบรรพ” ที่กำลังพูดถึงขณะนี้ ดูเหมือนจะพาดพิงไปทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งมหาสติปัฏฐาน และสมาธิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่า แม้ผู้ที่เคยเจริญสมาธิมาแล้วก็สามารถเจริญสติได้ อย่าลืมพระปัจฉิมโอวาท “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง” เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการรู้ความจริง เจริญปัญญาก็จะต้องเจริญสติไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเคยเจริญสมาธิ เคยน้อมใจไปให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ แม้ขณะนั้นสติก็ต้องตามระลึกรู้จึงจะเกิดปัญญา

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังถามว่า “การที่ไปสู่ป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดีนั้น จุดประสงค์เพื่อไปเจริญสมาธิก่อนแล้วเจริญสติปัฏฐานใช่ไหม” ถ้าเป็นเรื่องของอานาปานสติให้ทราบว่า การที่จะให้จิตสงบอยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลานานๆ ถ้าไม่ใช่ที่สงัดเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า จิตปกติธรรมดาย่อมคล้อยไปสู่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติสมาธิมาแล้ว อัธยาศัยเคยสะสมอบรมมาแล้ว ในขณะที่ว่างจากกิจการงานจึงไปสู่ป่า แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องไปสู่ป่า การไปสู่ป่าเป็นเรื่องของบุคคลที่เคยเจริญอานาปานสติสมาธิ เคยสะสมมา แต่การเจริญสติปัฏฐานไม่ต้องไปสู่ป่า ไม่ต้องไปสู่โคนไม้ ไม่ต้องไปสู่เรือนว่าง แต่สำหรับผู้ที่เคยสะสมอบรมมาให้สติระลึกตั้งมั่นที่ลมหายใจเป็นเวลานาน เป็นสมาธิ เป็นอานาปานสติสมาธิ ผู้นั้นจึงต้องไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่างมิฉะนั้นจิตจะสงบตั้งมั่นที่ลมหายใจไม่นาน เวลานี้อาจจะมีบางท่านที่สติระลึกที่ลมหายใจ นานไหม ปรากฏนิดเดียว แต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตก็คล้อยไปอยู่เรื่อยๆ สู่อารมณ์ต่างๆ

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ผู้ที่จะเจริญ ผู้ที่เจริญสติแต่เคยเจริญอานาปานสติมาก่อน ผู้ที่มีปกติเจริญสติ แต่เพราะเคยเจริญอานาปานสติมาก่อน ผู้นั้นจึงไปสู่ป่า โคนไม้ เรือนว่าง เพราะเป็นอัธยาศัยของผู้นั้น ไม่ใช่ว่าการเจริญสติจะต้องไป ผู้นั้นไปเป็นปกติอย่างนั้นแต่ไม่ได้เข้าใจผิดว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องไปอย่างนั้นแต่เขาไปตามปกติ

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติมาแล้วก็จะต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติ ในขณะที่บิณฑบาต ฉันภัตตาหาร นั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงาน หรือแม้ขณะที่ไปสู่ป่าก็ต้องมีสติเจริญสติเป็นปกติ แต่ใครจะไปหรือไม่ไปก็แล้วแต่ การเจริญสติปัฏฐานเป็นไปตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปเจริญสติปัฏฐานที่นั่น เขาไม่ใช่ไปเพื่อเจริญ ปกติเขาไปเพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ และอัธยาศัยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ใครเคยมีอัธยาศัยอย่างไรก็ไปอย่างนั้นแล้วระลึกได้ เป็นอัธยาศัยที่เขาไปเหมือนเวลานี้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะไปที่ไหนก็ไปเป็นอัธยาศัย แต่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติ มีอัธยาศัยไปก็ไปตามธรรมดา คนนี้ไปสู่ที่นั่น คนนั้นไปสู่อีกที่หนึ่ง อีกคนไปสู่อีกที่หนึ่ง แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นปรากฏเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เป็นผู้มีปกติเจริญทำไม “จะต้องไปเจริญ” ปกติเขาเจริญแต่เขาไปที่โน่น ทีนี้ปกติท่านผู้หนึ่งผู้ใดเจริญแล้วมาวัดก็ไปวัด คนหนึ่งไม่มาวัด อีกคนหนึ่งไปป่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ปกติเจริญมหาสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา เป็นเรื่องของมหาสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ใครจะไปไหนก็ตามใจ คนไหนจะไปป่า คนไหนจะไปวัด คนไหนจะไปหาเพื่อน คนไหนจะไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แล้วแต่จะไปทั้งนั้น ปกติผู้นั้นเคยเจริญอานาปานสติเขาก็ไปป่า เพราะทราบว่า การมีสติตั้งมั่นที่ลมหายใจจะตั้งมั่นไม่นานถ้าไม่ไปสู่ที่สงัดเช่นนั้น เคยศึกษา เคยทราบ เคยปฏิบัติ เคยอบรมจนกระทั่งเป็นนิสัยที่จะไปที่นั้น แต่จะต้องมีสติระลึกรู้ตลอดเวลา เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ มิฉะนั้นเวลาที่จิตสงบสติระลึกรู้ไม่ได้ ที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวว่า “ไปเจริญสมาธิเสียก่อนเป็นปฐมฌาณ แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา” ไม่ใช่จะเป็นไปได้ด้วยความต้องการหรือด้วยอัตตา แต่จะเป็นไปได้เพราะเหตุว่า เคยเป็นผู้มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจิตสงบก่อนจะถึงปฐมฌาณสติก็ระลึกได้ หรือแม้ว่าปฐมฌานเกิดแล้วสติก็ตามระลึกได้ แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ สติจะไม่เกิดเลยเป็นปฐมฌาน เป็นทุติยฌาน เป็นตติยฌาน เป็นจตุตถฌาน และเป็นปัญจมฌานสติก็ไม่เกิดเลย หรือว่าออกจากฌานต่างๆ เหล่านั้นมาแล้ว สติก็ไม่เกิดไม่ตามระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปในขณะนั้นเลย

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ชีวิตปกติใครจะไปที่ไหนอย่างไรก็แล้วแต่บุคคลเพราะเคยอบรมมาในเรื่องการไป เพราะเคยเจริญอานาปานสติมาแล้วจึงได้ไป แต่ผู้ใดไม่เคยเจริญไม่ได้ไปก็ระลึกรู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมได้

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ เคยเจริญมาก่อน เพราะเหตุว่า สมถภาวนานั้นมีก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอัธยาศัยของผู้นั้นแล้ว ขอให้ระลึกถึงความหมายของมหาสติปัฏฐานว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า สติสามารถจะแทรกตามระลึกรู้ลักษณะของธรรมทั้งปวงได้”


    หมายเลข 2496
    31 ก.ค. 2567