การเจริญภาวนา กับ การปลีกตัวไปสู่ที่หนึ่งๆ
ท่านอาจารย์ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกได้ วันหนึ่งๆ ทุกคนคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เสมอ นึกได้เรื่องนั้น นึกได้เรื่องนี้ แต่ผู้ที่ฟังการเจริญสติปัฏฐานแล้วระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ระลึกรู้ว่า จะต้องพิจารณาเพื่อการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ การคิดการระลึกในวันหนึ่งๆ ของทุกคนมีเป็นปกติ แล้วแต่ว่าจะระลึกเรื่องอะไร ผู้ที่เคยฟังเรื่องการเจริญสติ-ปัฏฐานก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรกฏตามปกติ
พระคุณเจ้า ……
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่การเจริญความสงบ การเจริญปัญญาเพียงระลึกขณะใด สติ คือ สภาพที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้นเมื่อระลึกแล้วสิ่งที่กำลังปรากฏมี สติระลึกได้ตลอดเวลาจะมากหรือจะน้อยไม่จำกัดจึงจะเป็นการอบรมให้มีขึ้น เพราะการเจริญภาวนาหมายความว่า อบรมให้มาก ให้เจริญขึ้น ถ้าสมมติว่า ท่านปลีกตัวไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า จะต้องเป็นสถานที่นั้นเท่านั้น จะต้องเป็นอารมณ์นั้นเท่านั้นในสถานที่นั้นเท่านั้น ไม่ใช่อารมณ์อื่นในสถานที่อื่น ท่านก็เข้าไปพากเพียรอบรมให้มีสติปัญญาเกิดขึ้น แล้วท่านก็ออกมาด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า ต้องเข้าต้องออก แต่ที่ท่านต้องใช้เวลาเข้าไปในสถานที่นั้นเป็นวลา ๑-๒ อาทิตย์ หรือ ๑ เดือนก็ตาม เมื่อท่านออกมาแล้วไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สติการระลึกได้ไม่มีเลยเพราะคิดว่า เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการระลึกได้ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะพูด ในขณะนิ่ง ในขณะคิด ในขณะประกอบกิจการงานต่างๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่เกิดปัญญาเพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ การอบรมปัญญาหมายความว่า ให้มีการพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏมากขึ้น เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดปัญญาก็รู้ชัด เพราะฉะนั้นถ้าไปแล้วกลับมาไม่รู้อะไรจะชื่อว่าเป็นการอบรมเจริญภาวนาให้เกิดปัญญาได้ไหมเพระว่าไม่รู้อะไร ขณะที่กำลังนั่งขณะนี้ก็ระลึกไม่ได้ ปัญญาก็ไม่รู้ลักษณะของนาม และรูปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะชื่อว่าท่านไปอบรมอะไร ไปเจริญภาวนาอย่างไร เพราะปัญญาไม่รู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย
สำหรับ บทว่า ไปสู่โคนไม้ก็ดี คือ ไปสู่ที่ใกล้ต้นไม้ และต่อไป บทว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ มีข้อความว่า
คำว่า สุญฺญํ ความว่า เป็นสถานที่ที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยใครๆ เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม
คำว่า อาคารํ คือ วิหาร โรงมีหลังคาครึ่งหนึ่ง ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ
สำหรับใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย
บทว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี คือ ไปสู่โอกาส หมายความถึงสถานที่อันสงัดว่างเปล่า
เรื่องของการเจริญอานาปานสติสมาธิเป็นเรื่องที่ต้องสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสตามสมควร สติจึงจะระลึกที่ลมหายใจได้นานจนกระทั่งเป็นสมาธิ นอกจากนั้น มีข้อความว่า
ภิกษุ แม้ไปสู่เสนาสนะ ๗ อย่างที่เหลือ เว้นป่า และโคนไม้เสีย จะกล่าวว่าไปสู่เรือนว่าง ดังนี้ก็ควร
เห็นไหมว่า “เรือนว่าง” มีความหมายกว้างออกไปอีก