วิธุรชาดก ตอนที่ ๑


    ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย ชาดก วิธุรชาดก

    ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า ชาดกต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญ สติปัฏฐานอย่างไรหรือไม่ ซึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะให้ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ทรงบำเพ็ญบารมี คือ การเจริญสติปัฏฐานในอดีตด้วย ถ้าเพียงแต่ ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอริยเจ้าเพราะฉะนั้น ในพระชาติต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ท่านผู้ฟังจะเห็นข้อความที่มีประโยชน์มากในการดำเนินชีวิตของพุทธบริษัท ซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเพราะถ้าท่านเพียงแต่จะเจริญสติปัฏฐานโดยที่ไม่สำรวจชีวิตของท่านเลยว่า ชีวิตของท่านนั้นเป็นกุศลอย่างไร หรือว่าเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าท่านพากเพียรที่จะดับกิเลส ท่านอาจจะเพิ่มกิเลสให้หนาแน่น ซึ่งยากแก่การที่จะละคลาย ยากแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ข้อความโดยย่อใน วิธุรชาดก มีว่า

    พระนางวิมลา มเหสีของท้าววรุณนาคราช ปรารถนาหทัย คือ หัวใจของ วิธุรบัณฑิต

    เรื่องของปาณาติบาต เป็นเรื่องที่ต้องการหัวใจของบัณฑิต เพราะรู้ว่ายากอย่างยิ่งที่จะได้มา เพราะว่าบัณฑิตย่อมเป็นผู้ที่ฉลาด เพราะฉะนั้น การที่จะได้หทัย หรือหัวใจของบัณฑิต ก็เป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะได้

    และปุณณกยักษ์ก็มีความปรารถนาในธิดาของท้าววรุณนาคราชผู้มีนามว่า อิรันทดี ท้าววรุณนาคราชได้ให้ปุณณกยักษ์ไปเอาหัวใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ก่อน จึงจะยกธิดาให้ปุณณกยักษ์

    นี่เป็นชีวิตธรรมดาปกติ เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังทรงบำเพ็ญพระบารมี และในพระชาตินั้น เป็นวิธุรบัณฑิต

    เมื่อได้ทราบเงื่อนไขอย่างนี้ ปุณณกยักษ์ก็ได้ไปท้าพนันสะกากับพระราชา เพราะว่าวิธุรบัณฑิตเป็นผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช เพราะฉะนั้น ปุณณกยักษ์ก็ได้ไปท้าพนันสะกากับพระราชา เมื่อชนะพระราชาแล้ว ก็ได้ทูลขอพระราชทานทรัพย์อันประเสริฐของพระองค์ คือ วิธุรบัณฑิต

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก

    ปุณณกยักษ์กราบทูลพระราชาว่า

    ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์บัณฑิตมีนามว่าวิธุระ เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด

    พระราชาตรัสตอบว่า

    วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ท่านไม่ควรจะเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา วิธุรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือ เป็นตัวเรา

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ควรจะได้ทราบว่า ทรัพย์ของท่านทั้งหมดที่มีอยู่ กับปัญญา ทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน สำหรับผู้ที่เห็นค่าของปัญญา ย่อมเห็นว่าปัญญานั้นประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหมด

    ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า

    การโต้เถียงกันของข้าพระองค์และพระองค์ จะพึงเป็นการช้านาน ขอเชิญเสด็จไปถามวิธุรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิธุรบัณฑิตนั้นแล ชี้แจงเนื้อความนั้น วิธุรบัณฑิตจะกล่าวคำใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง

    พระราชาตรัสว่า

    ดูกร มานพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียว และไม่ผลุนผัน เราไปถามวิธุรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้งสองคนจงยินดีตามคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น

    ปุณณกยักษ์เมื่อได้พบวิธุรบัณฑิตแล้ว ได้ถามว่า

    เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐชื่อวิธุระ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา

    ผู้ที่ต้องการ ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดพอที่จะถามให้บุคคลนั้นตอบ เพื่อจะได้สิ่งที่ตนต้องการ

    วิธุรบัณฑิตตอบว่า

    ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวก คือ ทาสครอกจำพวก ๑ ทาสไถ่จำพวก ๑ ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้าจำพวก ๑ ทาสเชลยจำพวก ๑ แม้ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ตาม จะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่นก็คงเป็นทาสของสมมติเทพนั้นเอง ดูกร มานพ พระราชาเมื่อจะทรงพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็นค่าพนันแก่ท่าน ก็พึงพระราชทานโดยธรรม

    นี่คือผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ เป็นผู้รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แต่ละท่านจะเป็นใคร มีภาระ มีกิจ มีหน้าที่อย่างไร มีฐานะ สภาพความเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอย่างใด ผู้ที่รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็รู้ตามสภาพความเป็นจริงนั้น

    ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลพระราชาว่า

    วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่ ๒ เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาแจ่มแจ้ง พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ ไม่ทรงยอมให้วิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์

    พระราชานั้นเห็นว่า วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ที่มีค่าที่สุด เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทรงให้ วิธุรบัณฑิตแก่ปุณณกยักษ์ แต่เมื่อวิธุรบัณฑิตกราบทูลพระราชาว่า พระราชาควรที่จะให้วิธุรบัณฑิตเป็นค่าพนันแก่ปุณณกยักษ์

    พระราชาตรัสว่า

    ดูกร กัจจานะ ถ้าวิธุรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิตผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด

    แต่ก่อนที่จะไป เนื่องจากว่า วิธุรบัณฑิตก็เป็นปราชญ์ผู้ฉลาดอย่างยิ่งในธรรม พระราชาจึงได้ตรัสถามธรรมก่อนที่วิธุรบัณฑิตจะจากไปว่า


    หมายเลข 2511
    16 ต.ค. 2566