วิธุรชาดก ตอนที่ ๒


    เพราะเหตุว่า วิธุรบัณฑิตก็เป็นปราชญ์ผู้ฉลาดอย่างยิ่งในธรรม พระราชาจึงได้ตรัสถามธรรมก่อนที่วิธุรบัณฑิตจะจากไปว่า

    ท่านวิธุรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไรมาณพจึงชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร

    การดำเนินชีวิตปกติประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจะต้องจากโลกนี้ไปโลกหน้าแต่ว่าจะไปอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตเป็นปกติประจำวันนี่เอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ท่านวิธุรบัณฑิต ผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญา เห็นอรรถธรรมอันสุขุมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า

    ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าว น้ำทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนถึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ

    คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีการไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกได้ด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า

    (นี้) ชื่อฆราวาสปัญหา

    ถ้าทุกท่านจำได้ทั้งหมด และประพฤติตามได้ทั้งหมด ท่านจะเป็นผู้ที่ปลอดภัยจริงๆ เริ่มตั้งแต่ ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว เคยเป็นอย่างนี้ไหม บริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ซึ่งไม่สมควรสำหรับผู้ครองเรือน แต่ควรเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะว่าท่านไม่สามารถจะอยู่ได้ลำพังคนเดียวในโลก

    ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก เป็นเรื่องของธรรมทั้งนั้น ซึ่งถ้อยคำที่ให้ติดอยู่ในโลกนั้น ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ

    ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น

    นอกจากนั้นยัง เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นคนสงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ

    นอกจากนั้น ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้วหมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ นี่ชื่อว่าฆราวาสปัญหาทั้งหมดนี้เป็นฆราวาสธรรม

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของธรรมที่ควรจะได้พิจารณารับฟัง และประพฤติปฏิบัติตามทั้งสิ้น

    ปุณณกยักษ์ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิตว่า

    เราจะไปกันเดี๋ยวนี้แหละ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอิสราธิบดี ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธรรมนี้เป็นของเก่า

    คือ เมื่อให้แล้ว ก็ควรที่จะไปกันได้แล้ว

    วิธุรบัณฑิตตอบว่า

    ดูกร มานพ ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชาผู้เป็นอิสราธิบดีพระราชทานแก่ท่านแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนสัก ๓ วัน ขอให้ท่านยับยั้งอยู่ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรภรรยาก่อน

    ในเมื่อจะต้องจากไป อย่างที่ต้องการหัวใจด้วย ก็คงจะไปสู่ความตายเพราะฉะนั้น เป็นการจากครั้งสุดท้าย ก็ควรที่จะได้สงเคราะห์บุตรภรรยาด้วยการสั่งสอนธรรมเสียก่อน ซึ่งปุณณกยักษ์ก็ยินยอม

    ปราสาทของวิธุรบัณฑิตมีอยู่ ๓ คือ โกญจาปราสาท ๑ มยูรปราสาท ๑ ปิยเกตปราสาท ๑ ในปราสาททั้ง ๓ นั้น วิธุรบัณฑิตก็ได้พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาทอันเป็นที่น่ารื่นรมย์ และต้อนรับอย่างดี แล้วท่านเองก็ได้กล่าวสั่งสอน บุตร ธิดาของท่านว่า

    พระราชาในพระนครอินทปัตนี้ พระราชทานพ่อให้แก่มาณพแล้ว พ่อพึงมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป พ้นจากนั้นไป พ่อก็ต้องเป็นไปตามอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา ก็พ่อมาเพื่อสั่งสอนลูกทั้งหลาย พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกทั้งหลายแล้ว จะพึงไปได้อย่างไร

    ถ้าว่าพระราชาผู้ปกครองกุรุรัฐ ผู้มีพระราชสมบัติอันน่าใคร่เป็นอันมาก ทรงต้องการกัลยาณมิตร จะพึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อนเจ้าทั้งหลายย่อมรู้เหตุ เก่าๆ อะไรบ้าง พ่อของเจ้าทั้งหลายได้พร่ำสอนอะไรไว้ในกาลก่อนบ้าง ถ้าแหละพระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเรา ในราชสกุลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี ลูกทั้งหลายพึงถวายบังคมกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า เพราะข้อนี้มิใช่ธรรมเนียม ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ผู้สูงศักดิ์ เหมือนสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระยาไกรสรราชสีห์อย่างไรได้ พระเจ้าข้า

    จบ ลักขกัณฑ์

    ดูเหมือนกับว่าเป็นคำสอนธรรมดา แต่ท่านจะพิจารณาได้ว่า เพื่อให้ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง เพราะเหตุว่าในราชสกุลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี


    ข้อความต่อไป จะมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันของทุกท่าน

    วิธุรบัณฑิตนั้น มีความดำริแห่งใจอันไม่หดหู่ ได้กล่าวกับบุตร ธิดา ญาติ มิตรและเพื่อนที่สนิทว่า

    ดูกร ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงมานั่งฟังราชวัสดีธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศ

    เป็นเรื่องชีวิตประจำวันของผู้ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้หรือเปล่า ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งหลายเหล่านี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้เข้าไปสู่ราชสกุล พระราชายังไม่ทรงทราบความสามารถ ย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อเมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติปกติ ปัญญา และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้น ย่อมทรงวางพระทัย และไม่ทรงรักษาความลับ

    เฉพาะราชเสวกหรือเปล่า หรือว่าตัวท่านทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ


    หมายเลข 2512
    16 ต.ค. 2566