วิธุรชาดก ตอนที่ ๓


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกอันพระราชาไม่ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงตั้งใจกระทำราชกิจทุกอย่างให้เสมอต้นเสมอปลาย เหมือนตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรงดี ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักนั้นได้

    นี่ไม่ใช่สำหรับราชเสวกเท่านั้น ราชเสวกอันพระราชาไม่ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น บางเรื่องท่านผู้ฟังมีความห่วงใย มีความกังวล ใคร่ที่จะให้เป็นไปตามใจ ตามความห่วงใยของท่านผู้ฟังเอง แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช้ หรือไม่ไหว้วาน หรือว่าไม่ขอร้อง หรือว่าไม่ขอคำแนะนำ จะไม่มีประโยชน์เลยในการที่ท่านจะทำสิ่งที่ท่านคิดว่ามีประโยชน์ กับบุคคลที่ไม่เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ท่านกระทำให้ เพราะฉะนั้น ข้อความทั้งหมด เป็นเรื่องที่ควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจอันพระราชาตรัสใช้ กลางวัน หรือ กลางคืนก็ตาม ไม่พึงหวาดหวั่นในการกระทำราชกิจนั้นๆ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ทางใดที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยดี สำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ถึงพระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินโดยทางนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    นี่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามได้ ในเมื่อเป็นสิ่งที่ควร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกไม่พึงบริโภคสมบัติที่น่าใคร่ทัดเทียมกับพระราชาในกาลไหนๆ ควรเดินหลังในทุกสิ่งทุกอย่าง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักนั้นได้

    ราชเสวกไม่ควรใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกริยา หรือพูดจาทัดเทียมกับพระราชา ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างหนึ่ง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ อันพระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ เสวกามาตย์เป็นคนฉลาด ไม่พึงการทอดสนิทแม้ในข้าสนมกำนัลใน ราชเสวกไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่คะนองกาย วาจา มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกไม่ควรเล่นหัว เจรจาปราศรัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน ไม่ควรถือเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกไม่พึงเห็นแก่การหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกไม่พึงขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือ และรถพระที่นั่งด้วยอาการทะนงตนว่า เป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ไม่ควรเฝ้าให้ไกลนัก ใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นถนัด ในสถานที่ๆ พอจะได้ยินพระราชดำรัสเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา พระราชาเป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้เร็วไว เหมือนนัยน์ตาอันผงกระทบ ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำหยาบคายกับพระราชาซึ่งประทับอยู่ในราชบริษัท

    เป็นเรื่องของวจีสุจริต ซึ่งก็มีการควร และไม่ควร ในขณะใด อย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ก็ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย พึงเป็นผู้สำรวมดำรงตนไว้เพียงดังไฟ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    พระเจ้าอยู่หัวจะทรงยกย่องพระราชโอรสหรือพระราชวงศ์ ด้วยบ้าน นิคม แว่นแคว้น หรือชนบท ราชเสวกควรนิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ

    ข้อนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้กับราชเสวก หรือพระราชา แต่จะใช้กับวงศาคณาญาติได้ไหม ก็ได้ เมื่อเวลาที่บุคคลใดจะมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับญาติมิตรสหาย ก็ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้าตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกผู้เป็นนักปราชญ์ พึงโอนไปเหมือนคันธนู แล้วพึงไหวไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช ผู้สิ้นเดชย่อมได้ประสบโรคไอมองคร่อ ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ท่านผู้ฟังเองก็ควรจะเป็นอย่างนี้ไหม ไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบ กระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ

    ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม สติไม่เกิด พูดมากเกินไปเสียแล้วหรือว่าสิ่งที่ควรพูดก็นิ่งเสีย หรือว่าเป็นคนที่มักโกรธ ถ้าสติไม่เกิดก็จะเป็นคนที่มักโกรธต่อไป หรือว่าในขณะนั้นก็อาจจะเป็นผู้ที่กระทบกระเทียบบุคคลอื่น แต่ถ้าสติเกิดรู้ว่าเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น ก็วิรัติการที่จะกระทบกระเทียบบุคคลอื่นได้ นี่เป็นคุณของสติ และจะเกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา พึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในสกุล มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจากลมเกลี้ยง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกพึงเป็นผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ เป็นผู้คงที่ อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดหมดจด เป็นคนขยัน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกพึงเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อม มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญ เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ราชเสวกนั้นควรอยู่ในสำนักได้

    ราชเสวกพึงเว้นให้ห่างไกลซึ่งทูต ที่ส่งมาเกี่ยวด้วยความลับ พึงดูแลแต่เจ้านายของตน ไม่ควรพูดเรื่องลับในสำนักของพระราชาอื่น ราชเสวกพึงเข้าหาสมาคมกับสมณะ และพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูตโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกเมื่อได้เข้าหาสมาคมกับสมณะ และพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูตแล้ว พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ไม่ใช่เพียงเข้าไปหาเฉยๆ แต่ต้องเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น


    หมายเลข 2513
    16 ต.ค. 2566