วิธุรชาดก ตอนที่ ๔


    นอกจากนั้นมีข้อความว่า

    ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และอาหาร ควรตั้งพวกทาส หรือกรรมกรผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยันหมั่นเพียร ให้เป็นใหญ่

    เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ที่บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับญาติ มิตรสหายของท่านที่ไม่ตั้งอยู่ในศีล ซึ่งถ้าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลท่านก็ไม่ควรที่จะตั้งให้บุคคลเหล่านั้นเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าบุคลเหล่านั้นเป็นพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง ถ้าเป็นพาลก็ย่อมนำแต่ความเดือดร้อน หรือว่าสิ่งที่เป็นโทษต่างๆ มาให้ เพราะฉะนั้น คนเหล่านั้นถึงแม้ว่าจะเป็นญาติ ก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่ว่าเมื่อเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และอาหาร

    เมื่อวิธุรบัณฑิตกล่าวสั่งสอนบุตรธิดาแล้ว ก็ได้ไปกับปุณณกยักษ์ถึงสำนักของท้าววรุณนาคราช เมื่อท่านไปถึงสำนักของท่านท้าววรุณนาคราชแล้ว ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่หวั่นไหวเลย เพราะเหตุว่า ท่านเป็นผู้ที่มีปัญญา และเป็นผู้ที่เจริญกุศลเพราะฉะนั้น ก็ไม่หวั่นกลัวต่ออกุศล ซึ่งเมื่อท่านได้ไปเฝ้าท้าววรุณนาคราช ท่านไม่อภิวาทท้าววรุณนาคราชทั้งๆ ที่เป็นพระราชา เป็นใหญ่ แต่ก็ไม่ไหว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกพระทัยของท้าววรุณนาคราชมาก ท้าววรุณนาคราชก็ตรัสถามว่า

    ท่านวิธุรบัณฑิตนั้น เป็นผู้ถูกภัย คือ ความตาย คุกคามแล้ว เป็นผู้ไม่กลัว และไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา

    คือ คนฉลาดทำอะไรก็ควรทำถูกในกาลเทศะและเหตุผล แต่เพราะเหตุใด วิธุรบัณฑิตซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญากลับไม่อภิวาทพระราชา ซึ่งเหมือนกับการกระทำของบุคคลผู้ไม่มีปัญญา

    วิธุรบัณฑิตได้กราบทูลว่า

    นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชรฆาต หรือเพชรฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอนรชนจะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตนและผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้บุคคลที่ตนพึงจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย

    เป็นเรื่องของการที่ควรอ่อนน้อมต่อกุศลธรรม ไม่ใช่ต่ออกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใจของใครขณะนี้เป็นอกุศล และต้องการที่จะให้บุคคลอื่นกราบไหว้ แสดงความนอบน้อมในอกุศล ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมจะไม่กระทำการนอบน้อมต่ออกุศลธรรม ด้วยเหตุนี้ เมื่อวิธุรบัณฑิตรู้ว่าพระราชามีความปรารถนาที่จะฆ่าตน เพราะฉะนั้น ก็ไม่อภิวาท เพราะว่าจิตที่คิดจะฆ่า หรือจิตที่คิดจะประหารบุคคลอื่นนั้นเป็นอกุศลจิต

    พระราชาทรงเห็นด้วยกับถ้อยคำของบัณฑิตนั้น วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่ท้าววรุณนาคราช โดยได้กราบทูลถามว่า วิมาน ความสุข ความสบายทั้งหมดที่ท้าววรุณนาคราชได้นี้ มาจากไหน

    ท้าววรุณนาคราชได้ตรัสว่า

    เราและภรรยาเมื่อยังอยู่ในมนุษย์โลก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ในครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และเราได้บำรุงสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ เราทั้งสองได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พักอาศัย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำโดยเคารพทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้น เป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้น เป็นพรหมจรรย์ของเรา

    ดูกร ท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว

    ผู้ที่ฉลาด เมื่อได้ย้อนระลึกถึงบุญของตนเองที่ได้กระทำไว้ในอดีต ที่เป็นเหตุให้ได้ผลที่น่ารื่นรมย์พอใจต่างๆ ก็ทำให้ระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะฆ่าผู้ที่เป็นบัณฑิต

    ดังนั้น ท้าววรุณนาคราชก็ได้พาวิธุรบัณฑิตไปเฝ้าพระชายา คือ พระนาง วิมลา วิธุรบัณฑิตก็ไม่อภิวาทเช่นเดิม (ข้อความซ้ำเหมือนกัน) และวิธุรบัณฑิตก็ได้แสดงธรรมแก่พระนางวิมลาด้วย ซึ่งเมื่อพระนางได้เข้าใจธรรม ได้เห็นคุณและโทษของกุศลและอกุศลกรรม ได้ระลึกถึงบุญในอดีตที่ได้กระทำไว้ ที่ทำให้ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และวิมานที่น่ารื่นรมย์

    พระนางวิมาลาได้ตรัสว่า

    ปัญญานั่นเองเป็นหทัยของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสองนั้นยินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก

    และได้ส่งวิธุรบัณฑิตกลับคืนไปสู่แคว้นกุรุรัฐในวันนั้น

    เป็นสิ่งที่เห็นได้ว่า ปัญญา ความรู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลนั้น ย่อมสามารถทำให้ผู้ที่ดำเนินชีวิตในทางกุศลพ้นภัยได้

    ข้อความตอนท้ายของวิธุรชาดกมีว่า

    เมื่อพระราชาได้วิธุรบัณฑิตกลับคืนแล้ว ทรงปลาบปลื้มโสมนัสอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าที่จะได้สิ่งอื่นใด พระราชาตรัสว่า

    มีต้นไม้ต้นหนึ่ง เกิดริมประตูวังของเรา ลำต้นประกอบด้วยปัญญา กิ่งแล้วด้วยศีล ต้นไม้นั้นตั้งอยู่ในอรรถและธรรม มีผลเต็มไปด้วยเบญจโครส ดารดาษไปด้วยช้าง ม้า และโค เมื่อมหาชนทำการบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี มีบุรุษมาไล่เสนาที่ยืนแวดล้อมต้นไม้นั้นให้หนีไป แล้วถอนต้นไม้ไป ต้นไม้นั้นกลับมาตั้งอยู่ที่ประตูวังของเราตามเดิม

    วิธุรบัณฑิต เช่นกับต้นไม้ใหญ่นี้ กลับมาสู่ที่อยู่ของตนแล้ว ท่านทั้งหลายจงกระทำการเคารพนอบน้อมแก่ต้นไม้ คือ วิธุรบัณฑิตนี้เถิด ขอเชิญอำมาตย์ผู้มีความปลื้มใจด้วยยศที่ได้เพราะอาศัยเราทุกๆ ท่านเทียว จงแสดงจิตของตนให้ปรากฏในวันนี้ ท่านทั้งหลายจงกระทำบรรณาการให้มาก จงกระทำการเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธุรบัณฑิตนี้ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้ และที่ถูกขังไว้ ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงปล่อยไปให้หมด วิธุรบัณฑิตหลุดพ้นจากเครื่องผูก ฉันใด สัตว์เหล่านั้นก็จงหลุดพ้นจากเครื่องผูก ฉันนั้น

    ต่อจากนั้นก็เป็นการที่จะให้ประชาชนทั้งหลาย ได้มารื่นเริงยินดีด้วยการที่ วิธุรบัณฑิตได้กลับมาสู่พระนครอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประชาชนทั้งหลายต่างก็มีจิตโสมนัส พากันโบกผ้าขาว โห่ร้องขึ้นเสียงอึงมี่ ด้วยประการฉะนี้แล

    นี่เป็นข้อความธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่อยากให้ท่านผู้ฟังผ่านสิ่งที่ท่านควรจะได้พิจารณา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของท่านเองในทางกุศลยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลใดก็ตาม มีชีวิตอย่างไรก็ตาม ธรรมย่อมเกื้อกูลท่านทั้งสิ้น


    หมายเลข 2514
    16 ต.ค. 2566