ฟังให้เข้าใจเป็นหนทางละความเป็นตัวตน
ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจหรือฟังเพื่อที่จะทำ (เพื่ออยากให้เห็นว่าคำว่าสภาพ ... ) นี่เห็นไหม อยากทำไม ก็มีอยู่แล้วแต่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ (กลัวมันผิด) ก็เข้าใจ ฟังให้เข้าใจเพื่อที่จะละความผิด ถ้าถูกเมื่อไรก็ค่อยๆ ละผิดเมื่อนั้น แต่ถ้ายังไม่ถูก จะไปละผิดได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจ เข้าใจนี่คือความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิหรือตัวปัญญานั่นเอง และก็ไม่ข้ามขั้นด้วย ถ้าปัญญาขั้นฟังยังไม่เพียงพอ สติสัมปชัญญะที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่มีความเข้าใจแล้ว เป็นปกติไม่ได้ยากลำบากอะไรเลย ชั่วระยะสั้นๆ ที่ปกติไม่ได้รู้ตรงแข็ง เพราะว่าถึงแม้ว่าจะกระทบแข็งจริงก็ผ่านไป ทั้งวันก็กระทบแข็งแล้วก็ผ่านไป
แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด คือขณะนั้นกำลังมีสติรู้ตรงแข็ง ขณะนั้นสติเกิด จึงรู้ตรงลักษณะที่แข็ง (ก็จะแว๊บเดียวไปเลย) ถูกต้อง เพราะว่าสติก็เกิดดับ แล้วก็ทางตาก็มีให้ระลึก ทางหูก็มีให้ระลึก ก็ไม่ได้บังคับเลยว่าใครจะระลึกทางไหน มากน้อยเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย นี่เป็นหนทางที่จะละความเป็นตัวตน มิฉะนั้นก็จะเป็นหนทางส่งเสริมความเป็นตัวตนที่จะทำ ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ว่าธรรมเป็นอนัตตาได้
ผู้ฟัง ที่ไปเปรียบเทียบว่าเหมือนหัดตั้งไข่ เหมือนหัดขี่จักรยานต่างๆ นี่ผิดหมด ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จะใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่ก็คือว่ามีรู้กับไม่รู้ มีสงสัยก็มีค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะขี่จักรยาน จะตั้งไข่ จะไต่เชือก อย่างไรก็แล้วแต่จะอุปมา แต่หมายความว่า ขณะนี้มีสิ่งที่พิสูจน์ความรู้ของเราว่าเรามีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฎแค่ไหน เช่นสิ่งที่ปรากฎทางตาในขณะนี้กับเห็น มีจริงแน่นอน ผู้รู้ก็คือผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญา แล้วสามารถที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องด้วยการละ ข้อสำคัญที่สุดสิ่งที่ลืมไม่ได้เลย จะต้องคู่กันไปตลอดคือละ ถ้าเผลอเมื่อไหร่ก็คือต้องการทันที แต่พอระลึกได้ก็รู้ว่านั่นไม่ใช่หนทางแล้ว นั่นตามโลภะไปอีกแล้ว เพราะว่าโลภะต้องการ
เปรียบเทียบได้ไหม เพราะว่าเราคุ้นเคยกับโลภะ เราเป็นทาสของความต้องการมานานแสนนาน แม้แต่ขณะที่ฟังธรรม บางคนอาจจะรอว่าเมื่อไหร่สติสัมปชัญญะจะเกิดก็เป็นได้ ลองคิดถึง ๒ คน คนหนึ่งก็กำลังรอว่าเมื่อไหร่สติสัมปชัญญะจะเกิด อีกคนไม่สนใจเลยว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อไหร่ ใครจะมีปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิด คนที่กำลังรอเห็นโลภะหรือเปล่า ไม่เห็นเลย แล้วก็ทำอย่างนี้มาตลอดเวลา คือรออยู่นั่นแหละว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ผู้ที่อาจหาญร่าเริง ที่จะพ้นจากโลภะ แม้ในขั้นของการฟัง และในขั้นของความเข้าใจหนทางปฏิบัติ ขั้นแรกคือไม่ต้องรอ และก็ไม่ต้องหวัง ตราบใดที่กำลังรอกำลังหวัง คือเครื่องกั้น เพราะขณะนั้นเป็นโลภะตลอด เมื่อไหร่ที่ไม่รอไม่หวัง มีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิด สติสัมปชัญญะจะเกิดด้วยความเป็นอิสระจากโลภะ ไม่มีโลภะเป็นเครื่องกั้นเลย แต่ว่าเพราะความคุ้นเคยกับการรอ คุ้นเคยกับการปฏิบัติ ที่ใช้คำว่าทำหรือปฏิบัติธรรม คุ้นเคยกับการที่จะต้องพยายามทำให้เกิดด้วยความเป็นตัวตน แต่นั่นไม่ใช่หนทางเลยจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยโลภะทั้งหมด ต่อเมื่อไหร่อาจหาญ เมื่อนั้นมีปัจจัย สติปัฎฐานเกิดก็รู้เลย ว่าขณะนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ ไม่ได้หวังไม่ได้รอ แต่ก็มีการระลึกได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็อาจหาญร่าเริงต่อไปที่จะไม่เป็นทาสของโลภะอีก เพราะว่าโลภะก็จะมาอีกเรื่อยๆ คอยที่จะให้ทำอย่างนั้นบ้าง ทำอย่างนี้บ้าง
เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่รู้จักโลภะ เพื่อที่จะละโลภะ ว่าเป็นผู้ที่กำลังชักนำ ที่จะให้ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง กล้าหาญอาจหาญพอที่จะไม่รอไหม ปกติธรรมดา ฟังก็เข้าใจ อกุศลจิตเกิด ธรรมดาหรือเปล่า ธรรมดาเป็นธรรม ทำไมไม่เข้าใจลักษณะนั้นว่าเป็นธรรม แต่ไม่ชอบแล้ว เริ่มพลิกผันที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับอกุศล ขณะนั้น ก็เป็นตัวตนอีกแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะมีตัวตน พร้อมด้วยโลภะด้วยความหวัง ที่แทรกเข้ามา ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ไม่อาจหาญ ร่าเริงจริงๆ ที่จะรู้ตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็ไปทางอื่น โดยที่ว่าไม่ชอบโลภะ ไม่ชอบโทสะ ไม่ชอบอกุศล จะต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะไม่ให้เป็นอกุศลนั้นๆ ก็ผิดไปอีกเรื่อยๆ