ผัสสะ กับ อธิปติปัจจัย
เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาว่า ผัสสเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัยได้ไหม ถ้าโดยสหชาตาธิปติ ได้แก่ ฉันทะวิริยะ จิตตะ วิมังสะ ผัสสะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วกระทบกับอารมณ์ แล้วดับ ไม่ใช่ ฉันทะ ไม่ใช่วิริยะ ไม่ใช่จิตตะ ไม่ใช่วิมังสะ แต่ว่าสำหรับ“อารัมมณาธิปติปัจจัย” ผัสสเจตสิกจะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยได้ไหม ? ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าได้ทราบสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ยิ่งเห็นความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมนั้น ๆ จะเป็นปัจจัยโดยประการใด เป็นได้ไหมคะ ?
ผัสสเจตสิกจะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยได้ไหม ท่านผู้ฟังปรารถนาอะไร ? โลภะมีความต้องการบางอย่างหนักแน่นมาก ไม่ลืมที่จะแสวงหาสิ่งนั้น ไม่ลืมที่จะพยายามหาสิ่งนั้น ในขณะนั้นสิ่งนั้นเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยเป็นอกุศลได้ไหม สิ่งที่ท่านต้องการ ท่านผู้ฟังอยากมีโลภะมาก ๆ ไหม หรือว่าไม่อยากจะมีโลภะเสียแล้ว ไม่อยากจะลิ้มรสอาหารอร่อย ๆ พิเศษเสียแล้ว หรือว่าอาหารบางชนิดช่างอร่อยเสียจริง ๆ ไม่ได้รับประทานหลายวันแล้ววันนี้จะต้องพยายามรับประทานให้เกิดความยินดีพอใจในรสนั้นที่เป็นความยินดี พอใจอย่างมากในวันนี้ต้องการความยินดีพอใจขั้นนั้นไหม จากรส จากรูป จากกลิ่น จากเสียง ต้องการไหม ? ต้องการในขณะนั้นต้องการผัสสะที่จะกระทบกับอารมณ์นั้น ๆ ไหม ?อยากจะให้ผัสสะกระทบกับอารมณ์อะไร ?ทางตา ก็คงจะมีรูปพิเศษที่อยากจะให้ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น ทางหู ก็อาจจะมีเพลงบางเพลงซึ่งพอใจเป็นพิเศษซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับเพลงนั้น ทางจมูก ก็อาจจะมีน้ำหอมหลายชนิด ซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับกลิ่นที่น่าพอใจเป็นพิเศษ ทางลิ้น ก็อาจจะมีรสอาหารซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับรสนั้นเป็นพิเศษ ทางกาย โดยนัยเดียวกัน
เพราะฉะนั้นต้องการให้ผัสสะเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ที่ปรารถนาอย่างหนักแน่นขณะใด ขณะนั้นผัสสะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตซึ่งกำลังปรารถนาที่จะให้ผัสสะกระทบกับอารมณ์นั้นในขณะนั้น ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นสังสารวัฏฏ์ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดได้ ถ้าไม่สามารถที่จะเห็นว่า แม้ขณะที่กำลังมีความยินดีต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างมากอย่างหนักแน่นก็เป็นเพราะเหตุว่าขณะนั้นอารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงอารัมมณปัจจัยเท่านั้น แล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องปัจจัย ท่านผู้ฟังจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรม แต่ไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าจะถึงเวลานั้น แต่ถ้าสามารถที่จะเข้าใจสิ่งใดได้ในชีวิตประจำวัน แล้วเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะสภาพของปัจจัยต่าง ๆ ก็จะทำให้คุ้นเคยกับสภาพของปัจจัย ๒๔ แล้วก็ทำให้สามารถที่จะรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ก็คงจะเข้าใจว่าขณะไหนเป็นอารัมมณปัจจัย และขณะไหนเกิดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยขึ้น ก็ทราบว่าขณะนั้นสิ่งนั้นหรือสภาพนั้นกำลังเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตในขณะนั้น แล้วก็ดับไป ไม่สามารถที่จะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยอยู่ได้ตลอดไป เพราะเหตุว่าจิตอื่นก็มีปัจจัยเกิดขึ้น