กุศล - อกุศล กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย
สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ให้ทราบว่าอารมณ์ซึ่งไม่ควรทอดทิ้งหรือว่าเห็นว่าควรได้ ไม่ควรดูหมิ่น สิ่งใดก็ตามในวันหนึ่ง ๆ ที่ท่านผู้ฟังรู้สึกว่าท่านอยากจะได้ เดินไปตามถนน หรือตามที่ต่าง ๆ โลภะก็เกิดแล้ว แม้ว่าจะไม่รู้ตัว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่ใช่ว่าท่านจะปรารถนาไปทุกอารมณ์ที่เห็นแต่ว่าอารมณ์ใดก็ตามซึ่งเกิดปรารถนาอย่างหนักแน่น ไม่ทอดทิ้ง คิดว่าควรจะได้ ควรจะมีในขณะนั้นอารมณ์นั้นเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย
สำหรับกุศลทั้งหลายเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลต่อไปอีกได้ อย่าลืม สำหรับผู้ที่มีปัญญา กุศลทั้งหลายเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลต่อ ๆ ไปอีก เพราะฉะนั้นสำหรับกุศลทั้งหลาย เป็นปัจจัยให้เกิดกามาวจรกุศลได้และเป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตก็ได้
สำหรับโลภมูลจิต ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ เพราะเหตุว่าทุกท่านนี้ ลึกลงไปจริง ๆ ยังปรารถนาโลภะอยู่ ยังชอบ ยังต้องการ ไม่ได้อยากให้หมดไปเร็ว ๆ นัก ใช่ไหม ตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร สภาพธรรมคือโลภมูลจิตก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าปรารถนาที่จะให้โลภมูลจิตประเภทใดเกิดขึ้น
สำหรับโลกียวิบากทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต จะเห็นได้ว่าสำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิต นอกจากถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ พวกกุศลทั้งหลายก็เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยแก่กุศลได้
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องละเอียด และสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง จึงจะสามารถรู้ได้ว่า ในขณะที่นึกถึงกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตหรือกุศลจิตที่มีอารมณ์นั้น
สำหรับ รูปขันธ์ทั้งหมดเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตเท่านั้นไม่เป็นแม้อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต
ถ้าไม่ศึกษาอย่างนี้ ก็จะหลงคิดว่า ขณะที่กำลังพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นเป็นกุศลได้ แต่ว่าสำหรับรูปขันธ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในชีวิตประจำวัน ตามปกติตามความเป็นจริง ให้ทราบว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต
ท่านผู้ฟังชอบสีสันวัณณะของเสื้อผ้า ของวัตถุเครื่องใช้ของสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกระทั่งท่านต้องไปแสวงหาซื้อมานั้น ขณะนั้นอารมณ์นั้น รูปนั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภะ ไม่ใช่เพียงแต่ผ่านไปเฉยๆ แต่ไม่ควรทอดทิ้งเห็นไหมว่าเป็นที่ปรารถนาเพียงไรเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังที่ทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่กระทบลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย ก็จะได้เห็นว่า รูปใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยและรูปใดเป็นอารัมมณปัจจัย
สำหรับอารัมมณปัจจัยก็ชอบ แต่ว่าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ใช่ไหม ?แต่ถ้าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น ทำให้เกิดความขวนขวาย และทำให้เกิดความปรารถนาอย่างหนักแน่น ที่จะไม่ทอดทิ้งในอารมณ์นั้นไป
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่าพระผู้พระภาคทรงแสดงสภาพธรรมนั้นโดยบัญญัติศัพท์เพื่อที่จะให้รู้ถึงลักษณะสภาพธรรมนั้น ๆ ว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยโดยปัจจัยใด เมื่อเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยก็จะไม่ใช้แต่เพียงคำว่า อารัมมณปัจจัย