การเจริญสติที่เป็นไปกับลมหายใจ
สำหรับพยัญชนะต่อไป
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีสติที่ลมหายใจ เวลานี้ลมหายใจเข้าสั้น ออกสั้น เข้ายาว ออกยาว ถ้าสติไม่รู้ที่ลมหายใจจะไม่ทราบเลย ผู้ที่จะทราบต้องเป็นผู้รู้ลักษณะของลมหายใจที่กำลังกระทบ สำหรับพยัญชนะในที่ต่างๆ ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ อานาปานกถา มีข้อความว่า
ลมอัสสาสะ คือ ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ
ลมปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าชื่อว่า อปานะ
ส่วนใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีพยัญชนะที่อธิบายเรื่องลมอัสสาสะ ปัสสาสะ โดยนัยเดียวกัน คือ ลมออกภายนอกชื่อว่า ลมอัสสาสะ ลมเข้าภายในชื่อว่า ลมปัสสาสะ และมีข้อความว่า ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ ลมหายใจเข้าชื่อว่า ปานะ
สำหรับผู้ที่สนใจในพยัญชนะ อยากทราบความหมายของอานาปานะ ก็จะได้ทราบว่า หมายความถึง ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ถ้าเป็นลมหายใจออก พยัญชนะก็ว่า อานะ ลมหายใจเข้า ก็เป็นปานะ หรืออปานะ
การเจริญอานาปานสติเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าอารมณ์ละเอียดมาก ลมหายใจเป็นของที่ละเอียด เวลานี้บางท่านอาจจะรู้สึกลักษณะของลมที่กระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย ลมเย็น อ่อน ร้อน หรือแข็ง อาจจะรู้ได้แต่ลมหายใจละเอียดกว่าลมที่กระทบที่กาย เบากว่า ประณีตกว่า เพราะฉะนั้นการเจริญสติที่เป็นไปกับลมหายใจจึงเป็นการเจริญสติที่ละเอียด ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญอานาปานสติจริงๆ ย่อมไม่บรรลุผลสมความมุ่งหมายได้เพราะว่า เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก และท่านที่เคยเจริญมาแล้วสามารถทำให้สมาธิจิตตั้งมั่นที่ลมหายใจทั้งๆ ที่ลมหายใจนั้นจะละเอียดขึ้น ประณีตขึ้นทุกที แม้ลมหายใจไม่เกิด จิตก็ยังสงบเป็นปัญจมฌานได้ เป็นเรื่องของความละเอียดของอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบถึงขั้นนั้นได้ ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาหมดอื่น เช่น อสุภกรรมฐาน การพิจารณาอสุภะ ซากศพต่างๆ ในลักษณะต่างๆ อารมณ์หยาบกว่าลมหายใจมาก ทั้งกลิ่น ทั้งสี แต่ลมหายใจเป็นเรื่องที่ละเอียด
เพราะฉะนั้นควรเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญอานาปานสติให้จิตสงบตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจได้นั้นต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ และต้องเริ่มเป็นขั้นๆ ต้องทราบวิธีเจริญ วิธีกำหนดลมหายใจ จะพิจารณาลมอย่างไรสติจึงจะตั้งมั่นไม่ขาดสติได้
ใน สมันตปาสาทิกา มีข้อความว่า
อาการ ๔ อย่าง คือ ลมหายใจออกยาว และสั้น และแม้ลมหายใจเข้าเช่นนั้น ย่อมเป็นไปที่ปลายจมูกของภิกษุ ฉะนี้แล
ที่จะรู้ว่าเป็นลมหายใจไม่ใช่ลมที่อื่นนั้นจะรู้ได้อย่างไร จะรู้ได้ที่ไหน ถ้าลมกำลังกระทบที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายส่วนอื่น ใช่ลมหายใจไหม ลมกำลังกระทบที่แขน ใช่ลมหายใจไหม ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นลมหายใจที่สติจะตั้งมั่น จิตสงบได้นั้น จะต้องรู้ด้วยว่า ส่วนใด ลักษณะใดเป็นลมหายใจ
เพราะฉะนั้น ที่เป็นลมหายใจนั้นก็คือ ลักษณะของลมที่ปรากฏที่ปลายจมูก ไม่ว่าจะเป็นลมเข้า หรือลมออก ยาวหรือสั้นก็ตาม
และมีข้อความต่อไปในสมันตปาสาทิกา มีข้อความว่า
จริงอยู่ ลมหายใจออก และลมหายใจเข้าเหล่านี้ สำหรับคนที่มีนาสิก (จมูก) ยาว ย่อมกระทบโพรงจมูกเป็นไป สำหรับคนที่มีนาสิกสั้น ย่อมกระทบริมฝีปากเบื้องบนเป็นไป
ผู้ที่กำลังมีสติระลึกรู้ส่วนของลมหายใจที่กำลังกระทบจะรู้ว่า กระทบที่ส่วนไหน ในโพรงจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน