พิจารณาลมหายใจหยาบ - ละเอียด


    นอกจากนั้นการเจริญอานาปานสติยังมีความละเอียดที่ว่า ถ้าไม่มีสติที่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ ไม่สามารถจะเจริญอานาปานสติได้ เพราะมีอุปกิเลสที่จะทำให้จิตไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นต้นว่า เวลามีสติที่ลมกำลังกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือริมฝีปากเบื้องบนก็ดี ลักษณะของลมนั้นละเอียดมาก ซึ่งก่อนการพิจารณาลมย่อมหยาบ เมื่อพิจารณาแล้ว ลมจะละเอียดขึ้นๆ เพราะจิตสงบขึ้นๆ

    และในการพิจารณานั้นก็แยกเป็น ๒ ทาง ถ้าเป็นสมถภาวนา เวลาที่จิตสงบเป็นขั้นอุปจารสมาธิ ก็ยังจัดว่าเป็นลมหยาบ ทั้งๆ ที่เป็นอุปจารสมาธิแล้ว ต่อเมื่อใดเป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดว่าเป็นลมละเอียด

    สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น ในขณะที่เริ่มพิจารณาก็เป็นลมหยาบ เพราะปรากฏให้รู้ลักษณะนั้นได้ แต่เวลาที่พิจารณาสภาพของลมโดยลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่เป็นตัวตน เป็นลักษณะของธาตุ ลักษณะของธาตุนั้นประณีตกว่า เมื่อรู้ลักษณะของธาตุที่เป็นลมหายใจ และเวลาที่มีความรู้ของนามรูปปริจเฉทญาณ ความรู้ขั้นนามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ความรู้ขั้นปัจจัย ปัจจยปริคคหญาณก็ดี ลมที่ปรากฏนั้นก็หยาบกว่าความรู้ขั้นที่รู้ความเกิดขึ้น และดับไปที่เป็นไตรลักษณะของญาณขั้นสูงต่อไป เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีสติ มีสัมปชัญญะ และเป็นผู้ที่รู้จักวิธีที่จะไม่ให้ขาดสติจริงๆ ทั้งโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา และโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน

    ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมาธิหรือสมถภาวนา ก็จะต้องพิจารณาลักษณะของลมเช่นเดียวกัน แต่ว่าจุดประสงค์ต่างกัน ความรู้ต่างกัน เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการ

    เจริญอานาปานสติสมาธิซึ่งเป็นสมถภาวนานั้น เพื่อให้จิตสงบจากนิวรณ์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ปัญญารู้ลักษณะแล้วละ เพราะฉะนั้นแยกกันอยู่ตลอดเวลา ทุกขั้นของการพิจารณาลมหายใจ แต่ว่าถ้าเวลาพิจารณาแล้วก็พิจารณาที่ลมกระทบทั้งสองนัย คือทั้งสติปัฏฐาน และทั้งสมถภาวนา

    ลมต้องประณีตขึ้นตามจิตที่ประณีต เพราะเหตุว่า ลมหายใจนั้นเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน อุปจารสมาธิ หยาบกว่าอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ลมที่เกิดจากอุปจารสมาธิจิต ก็หยาบกว่าลมที่เกิดจากอัปปนาสมาธิจิต

    สำหรับข้อความที่ว่า ให้มีสติระลึกที่ลมกระทบ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ละเอียดมาก ถ้าไม่ระลึกที่นั่นก็จะขาดสติ หรือสติจะไม่มั่นคง สมาธิจะไม่มั่นคง ถ้าโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา ถ้าคิดที่จะจดจ้องติดตามลมหายใจ คือ คิดถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกด้วยความต้องการ ขณะนั้นจิตก็จะกวัดแกว่งไม่สงบ หรือแม้แต่ความคิดปรารถนานิมิตที่จะให้เกิดขึ้นกับลมหายใจ ในขณะที่ปรารถนาจะให้เกิดนิมิตนั้น จิตก็หวั่นไหว ดิ้นรน

    แม้การเจริญสมถภาวนาก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า กำหนดพิจารณาอย่างไร ถ้าไม่พิจารณาที่ลมกระทบ มีความต้องการที่จะติดตามลมนั้นไป ความต้องการนั้นก็จะทำให้จิตไม่สงบ กวัดแกว่ง หรือแม้แต่ต้องการให้นิมิตเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็เป็นอุปกิเลส ซึ่งไม่ใช่เป็นการระงับความต้องการ ไม่ใช่การระงับกามฉันทนิวรณ์

    ถ้าเป็นนัยของการเจริญวิปัสสนา ต้องรู้เท่าทันจิต แม้ขณะที่สติระลึกรู้ลมที่ละเอียดที่กำลังปรากฏ ถ้ายังมีความผูกพันต้องการ จดจ้อง ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของอัตตา

    เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสติที่ระลึกแล้วก็รู้ชัด แล้วก็ละ แล้วก็คลาย นั่นเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา


    หมายเลข 2585
    31 ก.ค. 2567