ขันติวาทีชาดก ตอนที่ ๒
พระราชาตรัสถามอีกว่า
เจ้ามีวาทะว่ากระไร
พระโพธิสัตว์ทูลว่า
มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมา ขันติไม่ได้มีในระหว่างหนังของอาตมา มหาบพิตร ก็ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย ซึ่งพระองค์ไม่อาจแลเห็น
เพชฌฆาตทูลถามอีกว่า
ข้าพระองค์จะทำอย่างไร
พระราชาตรัสว่า
จงตัดมือทั้งสองข้างของดาบสโกงผู้นี้
เพชฌฆาตนั้นจับขวานตัดมือทั้งสองข้างแค่ข้อมือ ทีนั้นพระราชาตรัสกับเพชฌฆาตนั้นว่า จงตัดเท้าทั้งสองข้าง เพชฌฆาตก็ตัดเท้าทั้งสองข้าง โลหิตไหลออกจากปลายมือและปลายเท้า เหมือนรดน้ำครั่งไหลออกจากหม้อทะลุฉะนั้น พระราชาตรัสถามอีกว่า
เจ้ามีวาทะว่ากระไร
พระโพธิสัตว์ทูลว่า
มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันตินั้นไม่มีอยู่ที่นี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่ เฉพาะภายในหทัยอันเป็นสถานที่ลึกซึ้ง
พระราชาตรัสว่า
จงตัดหูและจมูกของดาบสนี้
เพชฌฆาตก็ตัดหูและจมูก ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต
พระราชาตรัสถามอีกว่า
เจ้ามีวาทะกระไร
พระโพธิสัตว์ทูลว่า
มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ แต่พระองค์ได้สำคัญว่า ขันติตั้งอยู่เฉพาะที่ปลายหู ปลายจมูก ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันลึก
พระราชาตรัสว่า
เจ้าชฎิลโกง เจ้าเท่านั้นจงนั่งยกเชิดชูขันติของเจ้าเถิด
แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอก แล้วเสด็จหลีกไป
เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตจากร่างกายของพระโพธิสัตว์ แล้วเก็บรวบรวมปลายมือ ปลายเท้า ปลายหู และปลายจมูกไว้ที่ชายผ้าสาฎก ค่อยๆ ประคองให้พระโพธิสัตว์นั่งลงแล้วไหว้ ได้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจะโกรธ ควรโกรธพระราชาผู้ทำผิดในท่าน ไม่ควรโกรธผู้อื่น
เมื่อจะอ้อนวอนจึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใดให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทำรัฐนี้ให้พินาศเสียเลย
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลายเช่นกับอาตมภาพย่อมไม่โกรธเคืองเลย
ข้อความตอนท้ายมีว่า
สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลนานมาแล้ว พระเจ้ากาสี ได้รับสั่งให้ห้ำหั่นสมณะนั้นผู้ดำรงอยู่เฉพาะในขันติธรรม พระเจ้ากาสีหมกไหม้ อยู่ในนรก เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่หยาบช้านั้น
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้มักโกรธบรรลุพระอนาคามิผล พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุในครั้งนั้นได้เป็นพระเทวทัต เสนาบดีในครั้งนั้น ได้เป็นท่านพระสารีบุตร ส่วนดาบสผู้มีวาทะยกย่องขันติในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคตฉะนี้แล
จบ อรรถกถาขันติวาทิชาดกที่ ๓
ระหว่างฟัง เห็นคุณของขันติไหม หรือยังไม่เห็น ยังจะโกรธ
เวลาที่มีกายวาจาของบุคคลอื่นซึ่งทำให้ท่านขุ่นเคืองใจหรือไม่พอใจ ยังไม่ได้ตัดเท้า ยังไม่ได้ตัดมือ ยังไม่ได้ตัดหู ยังไม่ได้ตัดจมูก แต่ก็โกรธเสียแล้ว แต่ให้ระลึกถึงผู้ที่เห็นโทษของความโกรธและเห็นคุณของขันติ อย่างภิกษุผู้มักโกรธ ในขณะที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจบพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ทรงประกาศอริยสัจจธรรม ภิกษุผู้มักโกรธนั้นบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล
นี่คือผลของการมีจิตน้อมไปที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น และเห็นโทษตามความเป็นจริง เพราะถ้ารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเพียง พระโสดาบันบุคคลก็ยังโกรธ หรือเป็นพระสกทาคามีบุคคลก็ยังโกรธ แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมหลังจากที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ละเอียดขึ้น จึงจะเห็นโทษของของความโกรธได้
ถ้ายังมีความโกรธมาก แม้จะได้ฟังขันติวาทีชาดกก็ตาม ครั้งหนึ่ง สองครั้ง หรืออีกหลายๆ ครั้ง ไม่ทราบว่าจะมีความคิดมีความตั้งใจมั่นที่แม้ว่า ยังโกรธอยู่ แต่ก็มีความเพียร มีความมั่นคงพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติตาม พระโอวาทคำสอนของพระผู้มีพระภาค