จิตเห็น - ชวนจิต - กุศล หรือ อกุศล


    ผู้ฟัง หลังจากที่อารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ที่มากระทบตา จากนั้นเป็นไปได้ไหมว่าจะมีโยนิโสมนสิการ คือ คิดที่ถูกต้อง แล้วกุศลจิตเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ จะรู้ว่าเป็นโยนิโสมนสิการ เมื่อขณะนั้นเป็นกุศลจิต

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ชวนะก็ต้องมีจิตที่เป็นกุศลได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน หลังจากที่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ วิบากเหล่านี้ดับไปแล้ว ชวนจิตจะเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นกิริยาจิตก็ได้ ใครเป็นอกุศล ใครเป็นกุศล ใครเป็นกิริยา ก็แล้วแต่บุคคล

    ผู้ฟัง เคยได้ยินท่านอาจารย์บรรยายทางวิทยุ ว่ามีนักบวชนอกพุทธศาสนา เห็นพระพุทธเจ้าแล้วโกรธขัดเคือง ทั้งๆ ที่ปกติคนทั่วไปเขาจะไม่โกรธ เขาจะยินดี แต่นี่ขัดเคือง คือเห็นสิ่งที่น่าพอใจ แต่กลับไม่พอใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปได้ แต่จริงๆ แล้วทางปัญจทวารสั้นมาก เหมือนฟ้าแลบ หลังจากนั้นทางมโนทวารวิถีจิตก็รับรู้ต่อ แล้วก็มีการตรึกนึกถึงรูปร่าง สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรภายหลังที่เกิดทางมโนทวารวิถีแล้ว

    อ.วิชัย ธรรมทุกอย่างก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แม้ขณะนี้เอง ก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย ฉะนั้นการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส ก็เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยให้เกิด หรือแม้ขณะที่เป็นชวนะ ก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น เกิดจากการสั่งสมมา ที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้กุศลจิตเกิดบ้าง อกุศลจิตเกิดบ้าง แต่สำหรับผู้ที่ละกุศล ละอกุศลหมดแล้ว ก็เป็นกิริยาจิต ซึ่งเป็นพระอรหันต์ เช่นนี้ก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น จะเห็นว่าบางท่านแม้เห็นสิ่งนี้ กุศลจิตเกิด แต่อีกบางท่านก็อกุศลจิตเกิด ก็เห็นถึงการสั่งสม การมีอัธยาศัยแตกต่างกัน ในการที่จะมีเหตุปัจจัยให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น

    อ.อรรณพ การที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ก็แล้วแต่ประเภทของจิต ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงจักขุวิญญาณ ว่าการที่จักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก เมื่อจิตดำเนินไปแล้วจนถึงชวนวาระ ชวนะจะเป็นอกุศลประเภทหนึ่ง ประเภทใดก็ได้ หรือเป็นกุศลก็ได้ แสดงให้เห็นความต่างของประเภทของจิต และกิจของจิตด้วย เพราะว่าจิตเห็นเป็นผลของกรรม จักขุวิญญาณอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม จักขุวิญญาณกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอกุศลวิบาก ก็จะต้องมีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ คืออนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นกุศลวิบาก กุศลวิบากก็ต้องรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ แต่การสะสม ก็เป็นไป แล้วแต่บุคคล ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศลประเภทใด แล้วถ้าเราพิจารณาถึงวิถีจิต เป็นจริงดังนั้นจริงๆ เมื่อวิญญาณจิตดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะจิตเกิด รับอารมณ์ รู้อารมณ์ด้วยความเป็นวิบาก สันตีรณะจิตเกิดต่อพิจารณาอารมณ์นั้น ทั้งจักขุวิญญาณ ทั้งสัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิต ก็เป็นวิบาก แต่ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ สันตีรณจิตที่เป็นวิบาก ขณะที่ ๓ ดับไปแล้ว ชวนะจะเกิดขึ้นทันที แต่ต้องมีอีกหนึ่งวิถี ก็คือโวฏฐัพพนวิถี ซึ่งเป็นกริยาจิต ซึ่งท่านอาจจะใช้คำว่าตัดสินอารมณ์ หรือกระทำทางให้ชวนะเกิดต่อ เพราะฉะนั้นชวนจิตไม่ได้เกิดต่อจากสันตีรณจิต ซึ่งเป็นวิบากแต่โวฏฐัพพนจิต เป็นกิริยาจิต ซึ่งจะกระทำทางหรือจะตัดสิน ชวนะนั้นจะเป็นกุศล อกุศลประเภทใดตามการสะสม แต่ไม่ได้หมายความว่าโวฏฐัพพนจิตมีความสำคัญที่จะไปเป็นผู้ตัดสิน แต่เป็นกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุดวงหนึ่งเกิดขึ้นเพียงสักแต่ว่ากระทำหน้าที่ ที่จะกระทำทางให้ชวนะเกิดตามการสะสม ว่าจะเป็นกุศลชวนะ หรืออกุศลชวนะ เพราะฉะนั้นวิถีจิตจึงมีวิถี ที่เป็นโวฏฐัพพนวิถีด้วย ก่อนที่จะเป็นชวนวิถี


    หมายเลข 2624
    23 ธ.ค. 2567