จะเจริญอานาปานสติสมาธิต้องเป็นผู้มีสติ
ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา มีข้อความเรื่องสติระลึกที่ลมกระทบว่า
ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่น
คำว่า ตั้งสติไว้มั่น คือ เป็นผู้ที่มีสติ ไม่หลงลืมสติ บางคนคิดว่า จะต้องให้เป็นสมาธิ สงบทีเดียว แต่ทุกครั้งที่พยัญชนะว่า ตั้งสติไว้มั่น หมายความถึง เป็นผู้ไม่หลงลืมสติ
ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่นที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปาก ไม่ได้ใส่ใจถึงลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ออกหรือเข้า ลมอัสสาสะปัสสาสะ ออกหรือเข้าจะไม่ปรากฏก็หามิได้ จิตปรากฏเป็นประธาน จิตให้ประโยชน์สำเร็จ และบรรลุถึงผลวิเศษ เหมือนบุรุษตั้งสติไว้ด้วยสามารถฟันเลื่อยอันผูกที่ต้นไม้ เขาไม่ได้ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป ฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้
คือ ไม่ต้องติดตาม เพราะว่าถ้าติดตาม ต้องการรู้ จดจ้องลม จะทำให้จิตกวัดแกว่ง เพียงแต่มีสติรู้ลมที่ปรากฏที่กระทบ นั่นเป็นการรู้ลักษณะของลมหายใจ
การเจริญสมาธิก็ดี การเจริญสติปัฏฐานก็ดี ต้องเป็นผู้มีสติ ขาดสติไม่ได้ ก็บุคคลนั้น เคยเจริญสมาธิมาแล้ว และก็ถ้าสติของเขาระลึก ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ใครห้ามได้ แต่ให้เป็นผู้มีสติรู้ชัด ผู้ที่เจริญสมาธิก็ต้องรู้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่าเจริญอานาปานสติ อานาปานสติต้องเป็นผู้ที่มีสติ แล้วแต่ว่าจะเป็นการเจริญเพียงขั้นสมถภาวนาหรือว่าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจิตจะเคยสะสมอบรมมาในเรื่องของการเจริญอานาปานสติที่เป็นสมาธิ ปกติก็ตามระลึกรู้ต่อไป ไม่ใช่ให้หยุดอยู่