จะเจริญก็ต้องเจริญอานาปานสติให้ถูก


    สำหรับเรื่องของการเจริญอานาปานสติที่ว่า จะต้องเจริญให้ถูก มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะทำให้จิตตั้งมั่นได้

    ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา ได้พูดถึงความละเอียดของอุปกิเลสซึ่งมีถึง ๑๘ ประการ แต่จะขอกล่าวเพียง ๖ ประการเท่านั้น สำหรับอุปกิเลสที่จะมีในขณะที่เจริญอานาปานสตินั้น คือ

    เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจออก จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายใน ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจเข้า จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายนอก ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจออก การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจเข้า การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความหลงในการได้ลมหายใจเข้า แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจออกครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความหลงในการได้ลมหายใจออก แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจเข้าครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ถ้าพอใจ หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจออกในขณะที่หายใจเข้า หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจเข้าในขณะที่หายใจออก ก็ไม่ทำให้สติตั้งมั่น

    และที่ว่า ถ้าตามลมหายใจเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จิตถึงความฟุ้งซ่านนั้น ใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีข้อความเรื่องเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของลมหายใจไว้ด้วยว่า

    การใช้สติไปตามนั้น ไม่ใช่ด้วยสามารถการไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ก็ลมออกภายนอกมีนาภีเป็นเบื้องต้น มีหทัยเป็นท่ามกลาง มีนาสิกเป็นที่สุด ลมเข้าภายในมีปลายนาสิก คือ ปลายจมูกเป็นเบื้องต้น มีหทัย คือ หัวใจเป็นท่ามกลาง มีนาภี คือ ท้องเป็นที่สุด

    คือ ตามไปทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ทั้งกาย ทั้งจิตย่อมมีความกระวนกระวาย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตฟุ้งซ่านในภายใน เมื่อกำหนดลมหายใจออกบ้าง ลมหายใจเข้าบ้าง หรือจิตย่อมฟุ้งซ่านในภายนอก เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าบ้าง ลมหายใจออกบ้าง เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะติดตามได้ถูกต้องทุกระยะ

    ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้เพราะอะไร เพราะว่าที่ถูกแล้ว สภาพลักษณะที่ปรากฏเป็นลมหายใจจริงๆ นั้นเฉพาะที่กระทบ เข้าไปข้างในแล้ว สัญญาความจำการติดต่อของลมที่ปรากฏเกิดกระทบที่ปลายจมูกแล้วก็ดับไปที่ปลายจมูก กระทบที่ริมฝีปากเบื้องบนแล้วก็ดับไปที่ริมฝีปากเบื้องบน ลักษณะของสังขารธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดที่ไหนปรากฏที่ไหน ดับที่นั่น แต่ความสืบต่อต่อไปจนกระทั่งถึงหทยะเป็นท่ามกลาง นาภีเป็นที่สุด นั่นด้วยสัญญาการรู้ความสืบต่อที่เป็นลมหายใจ

    ผู้ที่จะเจริญอานาปานสติจริงๆ สติระลึกรู้ส่วนของลมที่เกิดปรากฏกระทบที่ไหนดับที่นั่น เป็นส่วนของลมหายใจจริงๆ แต่ส่วนอื่นที่สืบต่อนั้นเป็นเรื่องของลมที่สืบต่อแล้วก็สิ้นสุดลงที่เนื่องมาจากลมหายใจ เมื่อเข้าไปในภายในแล้วก็สืบต่อ ไปสิ้นสุดลงที่นาภีที่ท้อง

    ลมหายใจจริงๆ ต้องเป็นส่วนที่กระทบ ส่วนที่กระทบโพรงจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนนั่นเป็นลมหายใจจริงๆ แต่ว่าส่วนอื่นที่จะเป็นท่ามกลางที่สุดต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่เกิดสืบต่อจากลมหายใจนั้นแล้ว เป็นภายในแล้ว แต่ว่าสัญญาความจำในลักษณะของการติดต่อก็ทำให้ทราบได้ว่าลมนั้นไปสิ้นสุดที่ใด แต่ความจริงลมเกิดปรากฏที่ใด ดับที่นั่น ตรงนั้นจริงๆ ที่เป็นส่วนของลมหายใจ ท่านแสดงไว้เลยว่า ถ้าผู้ใดติดตามลมหายใจในลักษณะนั้นแล้ว จะทำให้กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน

    ซึ่งในข้อนี้ก็อุปมาเรื่องเลื่อย ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อความที่ว่า

    หายใจออก หายใจเข้า ยาว สั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งระยะเวลา

    ทั้งๆ ที่เป็นลมที่ละเอียด แต่ค่อยๆ แผ่ไป สำหรับผู้ที่มีสติ เวลาที่ลมกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือว่าริมฝีปากเบื้องบนก็ดี จะมีลักษณะของลมที่ปรากฏส่วนหนึ่ง ถ้าลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออกยาว การแผ่ไป หรือการกระทบส่วนนั้นก็มากหรือยาว ทั้งๆ ที่เป็นลมละเอียด เมื่อพิจารณาเห็นกาย คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ยาวสั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณ จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย

    ต้องพิจารณาด้วยสติ ต้องรู้ชัดด้วยญาณในลักษณะของลม จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย

    ต่อไปข้อความที่ว่า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า

    ความหมายคือ ย่อมศึกษา จักทำให้แจ่มแจ้งซึ่งกองลมหายใจออก หายใจเข้าทั้งสิ้น คือ ไม่ให้ขาดสติ ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจเข้าก็รู้ แต่เดี๋ยวก็ไม่รู้ ขาดสติแล้ว หลงลืมสติแล้ว เพราะเหตุว่าลมหายใจละเอียดมาก บางคนลมอาจจะปรากฏตอนต้น แต่ท่ามกลางกับที่สุด คือ ตอนกลางกับตอนปลายไม่ปรากฏแล้ว ซึ่งก็เพราะความละเอียดของลมหายใจ

    ให้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า

    หมายความว่าเป็นผู้ที่มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของลมที่เข้า ลมที่ออกโดยไม่ขาดสติ แต่ไม่ใช่ให้ไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด โดยลักษณะของเบื้องต้นเป็นปลายจมูก ท่ามกลางเป็นหทัย แล้วก็ปลายของลมหายใจเป็นนาภี ไม่ใช่อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอานาปานสติย่อมศึกษา ย่อมพิจารณา ย่อมเสพ ด้วยการที่จักรู้แจ้งกองลมหายใจทั้งปวง จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า

    ลมหายใจออกจะกระทบก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ แต่ว่ารู้นิดหนึ่งก็หมดไป ลงลืมสติ ขาดสติอีกได้ แต่จะรู้แจ้งกองลมทั้งปวงไม่ว่าจะออกจะเข้าขณะใด ก็เป็นผู้ที่ศึกษา พิจารณาลมที่ออกที่เข้าทั้งปวง ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติ


    หมายเลข 2652
    31 ก.ค. 2567