ความละเอียดของลมหายใจ
ขอต่ออีกนิดหน่อยเพื่อให้จบข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อความที่ว่า
หายใจออก หายใจเข้า ยาว สั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งระยะเวลา
ทั้งๆ ที่เป็นลมที่ละเอียด แต่ค่อยๆ แผ่ไป สำหรับผู้ที่มีสติ เวลาที่ลมกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือว่าริมฝีปากเบื้องบนก็ดี จะมีลักษณะของลมที่ปรากฏส่วนหนึ่ง ถ้าลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออกยาว การแผ่ไป หรือการกระทบส่วนนั้นก็มากหรือยาว ทั้งๆ ที่เป็นลมละเอียด
เมื่อพิจารณาเห็นกาย คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ยาว สั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย
ต้องพิจารณาด้วยสติ ต้องรู้ชัดด้วยญาณในลักษณะของลม จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย
ต่อไปข้อความที่ว่า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า
ความหมายคือ ย่อมศึกษา จักทำให้แจ่มแจ้งซึ่งกองลมหายใจออก หายใจเข้าทั้งสิ้น คือ ไม่ให้ขาดสติ ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจเข้าก็รู้ แต่เดี๋ยวก็ไม่รู้ ขาดสติแล้ว หลงลืมสติแล้ว เพราะเหตุว่าลมหายใจละเอียดมาก
บางคนลมอาจจะปรากฏตอนต้น แต่ท่ามกลางกับที่สุด คือ ตอนกลางกับตอนปลายไม่ปรากฏแล้ว ซึ่งก็เพราะความละเอียดของลมหายใจ
ให้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า
หมายความว่าเป็นผู้ที่มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของลมที่เข้า ลมที่ออกโดยไม่ขาดสติ แต่ไม่ใช่ให้ไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด โดยลักษณะของเบื้องต้นเป็นปลายจมูก ท่ามกลางเป็นหทัย แล้วก็ปลายของลมหายใจเป็นนาภี ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอานาปานสติย่อมศึกษา ย่อมพิจารณา ย่อมเสพ ด้วยการที่จักรู้แจ้งกองลมหายใจทั้งปวง จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า
ลมหายใจออกจะกระทบก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ แต่ว่ารู้นิดหนึ่งก็หมดไป ลงลืมสติ ขาดสติอีกได้ แต่จะรู้แจ้งกองลมทั้งปวงไม่ว่าจะออกจะเข้าขณะใด ก็เป็นผู้ที่ศึกษา พิจารณาลมที่ออกที่เข้าทั้งปวง ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติ
เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นอานาปานสติ เจริญอย่างไร และผู้ที่เสพจนคุ้น เจริญมากแล้ว เวลาที่สติเป็นไปในลมหายใจจะต้องเป็นไปอย่างไร คือไม่ใช่ว่ารู้นิดเดียวแล้วขาดสติไป อย่างนั้นไม่ใช่การเจริญอานาปานสติ
เวลาที่ลมไม่ปรากฏ ก็เหมือนกับว่าขาดไป ก็เป็นลักษณะของการขาดสติ ไม่ใช่เป็นลักษณะของการเจริญอานาปานสติ