ติลมุฏฐิชาดก ตอนที่ ๑


    ขอยกตัวอย่างพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาค

    ข้อความใน อรรถกถา ติกนิบาตชาดก ติลมุฏฐิชาดก มีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระองค์ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้

    มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกใครว่าอะไร แม้เพียงนิดเดียวก็โกรธ ข้องใจ กระทำความโกรธ ความประทุษร้าย และความน้อยใจให้ปรากฏ อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า

    ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุรูปโน้นเป็นคนโกรธง่าย มากไปด้วยความคับแค้นใจ เที่ยวทำเสียงเอะอะเหมือนเกลือที่เขาใส่ในเตาไฟ เป็นผู้บวชในศาสนาที่สอนมิให้ โกรธเห็นปานนี้ แม้แต่ความโกรธเท่านั้นก็ไม่อาจข่มได้

    พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้ไปเรียกภิกษุรูปนั้นมา แล้วตรัสถามว่า

    ข่าวว่าเธอเป็นผู้โกรธง่ายจริงหรือ

    เมื่อภิกษุรูปนั้นรับว่าจริง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็เป็นคนมักโกรธเหมือนกัน

    ใครที่มักโกรธในชาตินี้ ให้ทราบว่า ชาติก่อนๆ ก็ต้องมักโกรธ และถ้า ยังมักโกรธอย่างชาตินี้ต่อไปอีก ก็นึกถึงภาพชาติหน้าได้ว่าจะเป็นอย่างไร อยากจะ เป็นอย่างนั้นต่อไป หรืออยากจะเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างนี้ ถ้าอยากจะเป็นอย่างอื่น ก็ต้องเริ่มสะสมทางฝ่ายกุศลเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้

    บางท่านบอกว่า ท่านมีอายุมากแล้ว เวลาของท่านเหลือน้อยแล้ว

    แต่นั่นไม่เกี่ยวกับการที่จะประพฤติปฏิบัติ ถ้าทำเสียวันนี้ ไม่เรียกว่า น้อยสำหรับเวลาที่ยังเหลืออยู่ เพราะว่าท่านเริ่มทำแล้ว ตรงกันข้าม แม้จะมีเวลาอีกนานมากสักเท่าไรก็ตาม แต่ไม่เริ่มทำสักทีหนึ่ง ก็ต้องเรียกว่า มีเวลาเหลือน้อย เพราะว่าชาติหน้าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่จะขัดเกลาอกุศลอย่างนี้อีกหรือไม่ ก็เป็นสิ่งซึ่ง ไม่มีใครสามารถรู้ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องในอดีตกาล ดังต่อไปนี้

    เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี โอรสของพระเจ้าพรหมทัตนั้นได้มีนามว่า พรหมทัตตกุมาร แท้จริงพระราชาครั้งเก่าก่อน แม้จะมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในนครของตน ก็ย่อมส่งพระราชโอรสของตนๆ ไปเรียนศิลปะ ยังภายนอกรัฏฐะในที่ไกล ด้วยหวังใจว่า เมื่อกระทำอย่างนี้พระราชโอรสเหล่านั้น จักเป็นผู้ขจัดความเย่อหยิ่งด้วยมานะ ๑ จักเป็นผู้อดทนต่อความหนาวและความร้อน ๑ จักได้รู้จารีตประเพณีของชาวโลก ๑

    เพราะฉะนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้พระราชโอรสซึ่งมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ไปศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกศิลา พระราชทานฉลองพระบาทชั้นเดียวคู่หนึ่ง ร่มใบไม้คันหนึ่ง และทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ

    เมื่อพระราชโอรสเสด็จไปถึงเมืองตักกศิลา ได้ไปถามหาบ้านอาจารย์ ก็ในเวลานั้นอาจารย์สอนศิลปะแก่พวกมาณพเสร็จแล้วลุกขึ้นมานั่ง ณ ที่ข้างหนึ่ง ที่ประตูเรือน พระราชโอรสนั้นเห็นอาจารย์นั่งอยู่ในที่นั้น ครั้นแล้วจึงถอดรองเท้า ลดร่ม ไหว้อาจารย์แล้วยืนอยู่ อาจารย์นั้นรู้ว่าพระราชโอรสนั้นเหน็ดเหนื่อยมา จึงให้กระทำ อาคันตุกสงเคราะห์ พระกุมารเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว พักผ่อนอยู่ครู่หนึ่ง จึงเข้าไปหาอาจารย์ ไหว้ แล้วยืนอยู่

    เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์ถามว่า เธอมาจากไหนน่ะพ่อ จึงกล่าวตอบว่า มาจากเมืองพาราณสี

    เธอเป็นลูกใคร

    เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี

    พระองค์เสด็จมาด้วยประสงค์อะไร

    ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการเรียนศิลปะ

    พระองค์นำทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์มาด้วยหรือเปล่า หรือพระองค์จะเป็นธัมมันเตวาสิก

    พระราชกุมารนั้นกล่าวว่า

    ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ข้าพเจ้านำมาด้วยแล้ว

    ว่าแล้วก็มอบถุงทรัพย์พันกหาปณะลงที่ใกล้เท้าของอาจารย์ แล้วก็ไหว้

    อันศิษย์ที่เป็นธัมมันเตวาสิก เวลากลางวันต้องทำการงานให้อาจารย์ กลางคืนจึงจะได้เรียน ส่วนศิษย์ที่ให้ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ เป็นเหมือนบุตรคนโต ในเรือน เรียนแต่ศิลปะเท่านั้น

    พระราชกุมารเรียนเอาศิลปะด้วยความตั้งใจ วันหนึ่งพระองค์ได้ไปอาบน้ำพร้อมกับอาจารย์

    ครั้งนั้นมีหญิงชราคนหนึ่ง ขัดสีเมล็ดงาให้หมดเปลือก แล้วเอามาแผ่ตากไว้ นั่งเฝ้าอยู่ พระกุมารเห็นเมล็ดงาที่ตากไว้ก็อยากจะเสวย จึงหยิบเมล็ดงามาหนึ่งกำมือแล้วเคี้ยวเสวย หญิงชราคิดว่า มาณพนี้คงอยากกิน จึงนิ่งเสียมิได้กล่าวประการใด แม้ในวันรุ่งขึ้น พระกุมารนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้น ในเวลานั้น แม้หญิงชรานั้น ก็ไม่กล่าวอะไรกะพระราชกุมารนั้น

    แม้ในวันที่ ๓ พระราชกุมารก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ คราวนั้น หญิงชราเห็นเข้าจึงประคองแขนทั้งสองร้องคร่ำครวญว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ใช้ให้ พวกศิษย์ของตนปล้นเรา อาจารย์หันกลับมาถามว่า นี่อะไรกันน่ะ หญิงชรากล่าวว่า นาย ศิษย์ของท่านเคี้ยวกินเมล็ดงาร่อนที่ข้าพเจ้าทำไว้ วันนี้กำมือหนึ่ง เมื่อวาน กำมือหนึ่ง เมื่อวานซืนกำมือหนึ่ง ก็เมื่อศิษย์ของท่านเคี้ยวกินอยู่อย่างนี้ เมล็ดงาที่มีอยู่ก็จักหมดสิ้นไปมิใช่หรือ อาจารย์ทิศาปาโมกข์กล่าวว่า อย่าร้องไห้ไปเลย ฉันจักให้มูลค่าแก่ท่าน

    นี่คือความคิดของแต่ละคน ซึ่งคิดไปตามเรื่องตามราว ตามเหตุการณ์ ในแต่ละชาติ

    หญิงชรากล่าวว่า ฉันไม่ต้องการมูลค่าดอกนาย ฉันขอให้ท่านสั่งสอน โปรดอย่าให้กุมารนี้กระทำอย่างนี้อีกต่อไป

    อาจารย์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น จงคอยดูนะแม่

    แล้วให้มาณพ ๒ คน จับพระราชกุมารนั้นที่แขนทั้ง ๒ ข้างไว้ แล้วเอาซีกไม้ไผ่มาเฆี่ยนที่กลางหลัง ๓ ครั้ง พร้อมกับสอนว่า เธออย่าได้ทำอย่างนี้อีกต่อไป

    พระราชกุมารโกรธอาจารย์ ทำนัยน์ตาแดงมองดูตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผม แม้อาจารย์นั้นก็รู้ว่า พระราชกุมารนั้นมองดูเพราะโกรธเคือง

    จะให้ใครรู้ว่าโกรธนี่ยากไหม มองดูตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผม ซึ่งปกติก็คง ไม่ทำอย่างนั้น แต่อาการที่จะให้คนอื่นรู้ ก็มีความหมายต่างๆ มีกิริยาอาการต่างๆ

    พระราชกุมารเรียนศิลปะจบแล้วทำการฝึกซ้อม เก็บโทษที่อาจารย์ทำไว้ในใจ โดยอาฆาตว่า เราต้องฆ่าอาจารย์ผู้นี้ ครั้นเวลาจะไป จึงไหว้อาจารย์ ทำทีมีความเคารพรักอย่างสุดซึ้ง รับเอาปฏิญญาว่า ท่านอาจารย์ เมื่อใดข้าพเจ้าได้ราชสมบัติ ในพระนครพาราณสีแล้วส่งข่าวมาถึงท่าน เมื่อนั้นขอให้ท่านพึงมาหาข้าพเจ้า กล่าวดังนี้แล้วก็จากไป

    เมื่อเสด็จถึงพระนครพาราณสีแล้ว ถวายบังคมพระชนกชนนี แล้วแสดงศิลปะให้ทอดพระเนตร พระราชาจึงทรงสถาปนาพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติ เมื่อ พระราชโอรสได้ครอบครองราชสมบัติ คิดถึงโทษที่อาจารย์ได้กระทำไว้ ก็ทรงพระพิโรธ จึงทรงส่งทูตไปถึงอาจารย์เพื่อให้มาเฝ้า ด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักฆ่าอาจารย์

    อาจารย์คิดว่า ในเวลาที่เขายังหนุ่มแน่น เราจักไม่อาจให้พระราชานั้นเข้าใจได้ จึงมิได้ไป ในเวลาที่พระราชานั้นล่วงเข้ามัชฌิมวัย อาจารย์ก็คิดว่า บัดนี้เราจักอาจ ทำให้พระราชานั้นเข้าใจได้ จึงได้เดินทางไป ยืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง ให้กราบทูลว่า อาจารย์จากเมืองตักกศิลามาแล้ว

    พระราชาทรงโสมนัสยินดีรับสั่งให้อาจารย์เข้าเฝ้า พอเห็นอาจารย์นั้นมาเฝ้าพระองค์เท่านั้น ทรงพระพิโรธจนพระเนตรทั้งสองข้างแดง


    หมายเลข 2656
    16 ต.ค. 2566