การให้ผลของพหุลกรรมที่เป็นกุศล


    ท่านอาจารย์ ในกาลต่อมา พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยได้สร้างพระมหาเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

    ซึ่งข้อความในอรรถกถากล่าวว่า

    พระมหาถูปะหรือพระมหาเจดีย์นั้นประกอบด้วย ๑๒๐ ห้อง แต่ว่าพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยสร้างพระมหาถูปะยังไม่เสร็จเรียบร้อย ก็ใกล้เวลาที่จะสวรรคต พระราชศรัทธาทำให้พระองค์ตรัสให้จัดที่บรรทมใกล้พระมหาเจดีย์ เพื่อที่จะได้ทอดพระเนตรดูพระมหาเจดีย์ที่สร้างไว้ก่อนที่จะสวรรคต

    ลำดับนั้น ซึ่งครั้งนั้นเมื่อพระมหาติสสะเถระซึ่งนั่งอยู่ใกล้พระมหาเจดีย์ทางทิศทักษิณของพระมหาเจดีย์ ขณะนั้นพระภิกษุก็ได้ทำการสาธยายพระสุตตันตปิฎก ด้วยสามารถนิกายทั้ง ๕

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    รถ ๖ คัน มาจากเทวโลกทั้ง ๖ ได้ตั้งอยู่ในอากาศเบื้องพระพักตร์ของพระราชา พระราชาให้สวดคัมภีร์จำเดิมแต่ต้นว่า ท่านทั้งหลายจงนำคัมภีร์แห่งบุญมา

    บางท่านอาจจะจดไว้ว่า ได้บริจาค ได้ทำกุศลในชีวิตของท่านที่ไหนบ้าง แต่สำหรับพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยก็มีบันทึกซึ่งเป็นคัมภีร์บุญของท่าน

    ครั้งนั้น กรรมไรๆ มิได้ยังพระราชาให้ชื่นชม พระราชาตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย จงกล่าวสวดต่อไปอีกเถิด” ภิกษุผู้กล่าวคัมภีร์ กล่าวแล้วว่า พระราชาผู้ปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ เสด็จเข้าไปสู่ป่านั้นนั่นเทียว ประทับนั่งแล้ว ทำก้อนภัตรก้อนหนึ่งเป็น ๔ ส่วน แล้วถวายภิกษาแก่พระมหาติสสเถระ ผู้อยู่ที่โพธิยมาลกทิศ

    เพียงเท่านี้พระราชาระลึกถึงกุศลที่ทำให้พระองค์ปีติโสมนัสอย่างยิ่ง จึงตรัสว่า “จงหลีกไปเถิด ดังนี้”

    ตรัสถามภิกษุสงฆ์แล้วว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เทวโลกไหนแลเป็นที่น่ารื่นรมย์กว่า ดังนี้”

    ภิกษุสงฆ์ตอบว่า “มหาบพิตร ภพดุสิตเป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง” ดังนี้ พระราชากระทำกาลแล้ว ดำรงอยู่แล้วบนรถที่มาจากภพดุสิตนั่นแหละ ได้เสด็จไปสู่ภพดุสิต

    นี้เป็นเรื่องในการให้ผลของกรรมมีกำลัง คือพหุลกรรม

    ถ้าจะให้ทุกท่านผู้ฟังนึกถึงกรรมที่มีกำลังที่เป็นกุศลในขณะนี้ นึกออกไหม

    ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่ใช่อาสันนกรรมหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่พระราชาปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ ไม่ใช่อาสันนกรรม

    ผู้ฟัง ก็ขณะนั้นท่านกำลังมีพระเจดีย์เป็นอารมณ์ และพระภิกษุกำลังสวด ก็มีเสียงสวดเป็นอารมณ์ก็ได้

    ท่านอาจารย์ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดโสมนัสปีติ จนถึงตอนที่ภิกษุผู้กล่าวคัมภีร์กล่าวว่า พระราชาผู้ปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ เสด็จเข้าไปสู่ป่านั้นนั่นเทียว ประทับนั่งแล้ว ทำก้อนภัตรก้อนหนึ่งเป็น ๔ ส่วน แล้วถวายภิกษาแก่พระมหาติสสเถระ ผู้อยู่ที่โพธิยมาลกทิศ

    ผู้ฟัง สวรรค์ทั้งหมดมี ๖ ชั้น และดุสิตนี่เป็นชั้นที่ ๔ แต่สูงขึ้นไปอีก ๒ ชั้น คือ นิมมานรดี และปรนิมมิตตสวัสตี ถ้าเทวดาขับรถมารับ เขาจะเลือกชั้นดุสิตทุกที ไม่ว่าจะเป็นธัมมิกอุบาสก หรือพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ก็เหมือนกัน เลือกชั้นดุสิตทุกที เพราะเหตุใดครับ

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะเลือกรถคันไหน แทนที่จะนึกถึงพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย นึกถึงท่านผู้ฟังเอง จะเลือกรถของสวรรค์ชั้นไหน ถ้าเลือกได้ จะเลือกคันไหน

    ผู้ฟัง ดุสิต

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน ก็ไม่น่าสงสัยถึงจิตของผู้ที่ฝักใฝ่ในพระธรรม เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น

    อ.นิภัทร เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยที่อาจารย์บรรยายนี้ อยู่ในคัมภีร์อะไร

    ท่านอาจารย์ มโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกายค่ะ

    อ.นิภัทร แสดงว่าคัมภีร์นี้แต่งในสมัย ...

    ท่านอาจารย์ หลังพระมหินทรเถระ

    อ.นิภัทร คล้ายๆ กับบันทึกเรื่องราวในสมัยนั้น เพราะสังเกตดูว่า แม้แต่การกระทำของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย พระท่านก็เอาไปแต่งไปเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวอย่างของกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    สำหรับข้อความในอรรถกถา โดยมากก็อธิบายพระสูตรต่างๆ ซึ่งอรรถกถารุ่นแรกมีในสมัยของพระมหินทรเถระ แต่เมื่อท่านพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งอยู่หลังปรินิพพาน ๙๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ ปี ได้ไปแปลอรรถกถารุ่นพระมหินทรเถระ ซึ่งเป็นรุ่นแรก ก่อนสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย พระพุทธโฆษาจารย์เมื่อแปลแล้ว ท่านก็เรียบเรียงคัมภีร์ต่างๆ เป็นภาษามคธ แทนคัมภีร์ภาษาสิงหล เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องหลังพระมหินทรเถระ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นอรรถกถาในสมัยโน้น ไม่ใช่ในสมัยนี้ เพราะเหตุว่าได้อธิบายตามแนวของอรรถกถาของพระมหินทรเถระทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีตัวอย่างเรื่องราวในสมัยนั้นประกอบ แต่เป็นเรื่องราวก่อนสมัยของพระพุทธโฆษาจารย์


    หมายเลข 2665
    2 ส.ค. 2567