พิจารณาอิริยาบถของผู้อื่นเป็นอย่างไร


    ผู้ฟัง ในอรรถกถาของสติปัฏฐานสูตร ท่านแสดงว่า การกำหนดอิริยาบถของผู้อื่น คือเห็นกาย พิจารณาเห็นกายในกายของตนเองหรือของผู้อื่นตามกาลเวลา หมายความว่าของตนเองพอเข้าใจ แล้วใช่ เพราะต้องปฏิบัติ เราต้องพิจารณาจนถึงตรงนั้น ก็คือพิจารณาได้ แต่เหตุใดท่านถึงได้แสดงว่าให้พิจารณาคนอื่น เราพิจารณาสติปัฏฐานเกิดอย่างไร คือไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ก็ไปพิจารณาคนอื่น ในอิริยาบถ ๔ เหมือนกับเราด้วย

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่ก่อนที่สติสัมปชัญญะจะเกิด มีเราคนเดียวในโลก หรือว่ามีคนอื่นด้วย มีคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะที่เกิดที่เรา หรือว่าที่เกิดที่อื่น เคยถามคุณธิดารัตน์ครั้งหนึ่งใช่ไหมว่าเคยจับมือใครไหม คุณธิดารัตน์ก็ตอบแล้วจำได้หรือเปล่า (เคย) จับมือหลานข้ามถนน ก่อนที่จะรู้เรื่องสภาพธรรม มีหลานไหม มีเราไหม มีคนอื่นไหม มีมือเขา มีมือเรากำลังจับมือเขาหรือเปล่า นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก่อน ก่อนที่จะรู้ความจริงก็คือว่า มีความรู้สึกว่านี่เป็นของเรา นั่นเป็นของเขา กายเรา กายเขา แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด สิ่งนั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เพื่ออาศัยระลึกเท่านั้นเอง ดับแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ใครเลย แม้แต่ความรู้สึกเวลาที่เราดู โทรทัศน์ ดูละครเรียกว่าดูภาพยนตร์อะไรก็แล้วแต่ มีเรื่องราวมีคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะความรู้สึกที่เรากำลังรู้สึก แต่เรายังไปคิดถึงความรู้สึกของคนที่เราเห็น คนนี้กำลังร้องไห้ เขาต้องเสียใจมาก เขาสามารถที่จะสื่อออกมาทางสายตา หรือทางการกระทำ หรืออะไรต่างๆ ขณะนั้น ไม่ได้คิดถึงสภาพความรู้สึกของเราเองเลย เพราะว่าขณะนั้นกำลังมีคนอื่นเป็นอารมณ์ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีใครเลย เพราะฉะนั้นเป็นเพียงอาศัยระลึกให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร และจริงๆ แล้วสิ่งที่อาศัยระลึก จะเป็นกาย จะเป็นเวทนา จะเป็นจิต จะเป็นธรรม จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่เคยเข้าใจว่าเป็นบุคคล นั้นบุคคลนี้ สิ่งนั้น สิ่งนี้ แท้ที่จริงก็เมื่ออาศัยระลึกแล้ว ก็เป็นเพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง คือหมายความว่า โกรธของเราก็เหมือนโกรธของเขา โกรธของเขาก็เหมือนโกรธของเรา (ไม่มีเขา) โทสะเป็นแต่เพียงสภาพธรรม คือในขณะที่เขาโกรธ ตัวเราเวลาเราระลึกรู้ อันนี้เป็นเพียงสภาพธรรม ก็เป็นเครื่องอาศัยระลึกว่าอันนี้มันคือสภาพธรรม ถ้าจะสรุป อาศัยระลึกในที่นี้ก็คือว่า ลักษณะอย่างนั้น แม้เป็นคนอื่น หรือจะเป็นเรา มันก็คือสภาพธรรมเหมือนกันหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็หนีการที่จะเข้าใจว่าเป็นคนนั้นคนนี้ไม่ได้ ถ้าเห็นว่าสภาพธรรมไม่ใช่มีแต่เฉพาะภายในที่ตัวเรา ใช่ไหม แต่ว่าการรู้ตามความเป็นจริงก็คือว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีเลย ไม่มีอะไรเลย นอกจากสภาพธรรม นี่คืออาศัยระลึก แล้วเห็นถูกในขณะนั้น จนสามารถที่จะรู้ได้ว่า ไม่มีตัวตนไม่มีสัตว์ บุคคล ทั้งเราทั้งเขา


    หมายเลข 2681
    16 ก.ย. 2567