การเจริญสติปัฏฐานไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์


    อ.ประเชิญ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ที่จะมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือไม่ คือเราดูจากการที่สติปัฏฐานอบรมจนมีกำลัง เรียกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นลำดับขั้นขึ้นไป คือกว่าที่วิปัสสนาญาณจะมีกำลัง เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณขึ้นไป เราก็ดูจากตรงนี้ว่าก่อนหน้านี้ ก็จะต้องรู้นามรูปเหมือนกัน เมื่อรู้นามรูปในขณะที่อบรมสติปัฏฐาน เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้งแล้ว ก็คือประจักษ์แจ้งนามรูปนั่นแหละ ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่มีบอกว่าเรื่องบัญญัติ ก็คือประจักษ์แจ้ง นามธรรม รูปธรรม โดยความแยกขาดจากกัน ตรงนี้ ไม่มีบอกว่าประจักษ์แจ้งบัญญัติกับปรมัตถ์หรืออะไรอย่างอื่น แต่ว่าท่านกล่าวแล้วว่าประจักษ์แจ้งนามธรรม รูปธรรม

    วิปัสสนาญาณต่อมา ปัจจยปริคคหญาณ ก็รู้ความเป็นปัจจัย หรือรู้ปัจจัยที่ทำให้เกิด นามธรรม รูปธรรม นั้น ก็คือปัจจัยเหล่านั้นก็คือปรมัตถ์นั่นเอง หรือสูงขึ้นไป สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ก็คือเห็นความเกิดความดับ เห็นโทษเห็นภัยอะไรทั้งหลาย ก็เห็นโทษเห็นภัยของนามธรรม รูปธรรมที่เป็นปรมัตถ์นั่นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องของบัญญัติ ก็บัญญัติเราก็เหมือนกับรู้อยู่แล้ว ว่าจริงๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา เราก็ถูกสอนให้รู้เรื่องของบัญญัติอยู่แล้ว แต่ว่าปรมัตถธรรมเราต้องอาศัยพระปัญญาของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ตรัสสอน ถึงจะได้รู้สิ่งเหล่านี้ เพราะว่าบัญญัตินั้นใครสอนก็ได้ แต่ว่าปรมัตถธรรมนั้นต้องอาศัยพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการที่จะอบรมปัญญามากขึ้น จนที่จะละกิเลสได้ต้องรู้ของจริง ถึงจะประจักษ์แจ้งความจริงได้ เป็นประจักษ์อริยสัจจธรรม นั่นก็คือของจริงที่เป็นปรมัตถธรรมนั่นเอง

    อ.อรรณพ คุณประเชิญครับ ผมคิดว่าประเด็นที่มีบางท่านเข้าใจว่า สติปัฏฐานระลึกที่บัญญัติ ก็คงจะคิดไปถึงเรื่องวิปัสสนาญาณ ซึ่ง อุทยัพพยญาณ หรือสัมมสนญาณ ก็เป็นการรู้ความเกิด-ดับของสภาพธรรม รู้ไตรลักษณะ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาก็เลยเข้าใจว่าสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นนามธรรม รูปธรรม แต่ว่าความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา เป็นลักษณะของสภาพธรรมอีกทีหนึ่ง เขาก็เลยคิดว่าเป็นเหมือนบัญญัติหรือบัญญัติพิเศษ อะไรลักษณะนี้ คุณประเชิญจะมีเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา รู้ในความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา เขาก็เลยเข้าใจว่า ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ หรือความเป็นอนัตตา เป็นอาการของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวสภาพธรรมจริงๆ เขาคงสับสนตรงนี้

    อ.ประเชิญ ไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะ เป็นลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นสังขารธรรม ที่เป็นขันธ์ ๕ ก็คือปรมัตถธรรมนั่นเอง บัญญัติไม่มีไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์ไตรลักษณ์ ก็คือประจักษ์ความเป็นลักษณะที่ทั่วไปของสภาพธรรม ที่เป็นสังขารธรรมหรือขันธ์ ๕ ก็คือรู้ปรมัตถ์นั่นแหละ ไม่ใช่รู้อื่นจากปรมัตถ์


    หมายเลข 2684
    13 ก.ย. 2567