ความพอใจมากมายที่เกิดหลังจากวิบากจิตดับไป


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ยังไม่รู้แต่ละขณะจิต ใช่ไหม ฟังธรรมทางวิทยุตอนไหนก็มีเรื่องของชวนจิต แต่ว่าการฟังธรรมนี้อยากจะให้ได้ประโยชน์จริงๆ คือได้เป็นความเข้าใจที่ว่า ไม่ว่าเราจะพูดถึงกุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งเกิดต่อจากจิตเห็น จิตได้ยิน เรารู้ตัวเราได้ไหม ว่าขณะนี้กำลังเห็น แล้วหลังจากเห็นว่าจิตเป็นอะไร บอกแล้วใช่ไหม ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล เพราะฉะนั้นถ้าเป็นโลภะ รู้ตัวไหมว่าขณะเห็นเราพอใจ แล้วในสิ่งที่เห็นยับยั้งไม่ได้เลย เร็วขนาดนั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความพอใจของเรา มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นจะเห็นอัธยาศัยที่ต่างๆ กัน เพราะเหตุว่า ชวนวิถีจิต จะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ ถ้าเป็นโลภะ ก็เป็นโลภะ ๗ ขณะ ถ้าโลภะนั้นประกอบด้วยโสมนัส ก็เป็นโลภะโสมนัสทั้ง ๗ ขณะ ถ้าโลภะนั้นเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ทั้ง ๗ ขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ก็เป็นอุเบกขาเวทนา สะสมหลังจากที่ดับไปแล้ว เพราะว่าวิบากจิตไม่ได้สะสมเป็นอุปนิสัย หรือเป็นอัธยาศัยเลย เพราะเหตุว่าเป็นผลที่เกิดจากกรรม เมื่อกรรมได้กระทำแล้ว วิบากจิตต้องเกิดตามกาล เพราะเหตุว่ากรรมมีมาก แล้วแต่ว่ากาลไหน กรรมใดพร้อม ที่ใช้คำว่าสุกงอม พร้อมที่จะให้ผล ที่จะทำให้เกิดขึ้น วิบากจิตประเภทนั้นๆ ก็เกิดขึ้น ทางตาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ ซึ่งเลือกไม่ได้ เป็นผลของกรรมจริง แต่หลังจากนั้นก็ติดข้อง เริ่มเหตุใหม่ในสิ่งที่ปรากฎ หรือว่าอาจจะเกิดโทสมูลจิต ไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฎ เกินกว่าที่จะยับยั้ง ด้วยเหตุนี้ แต่ละคนจึงมีอัธยาศัย หรือว่าอุปนิสัยต่างๆ กัน พอจะรู้ตัวไหมว่าเป็นคนที่มีอุปนิสัย หรืออัธยาศัยอย่างไร บางคนติดมาก ชอบไปหมดเลยทุกอย่าง บางคนก็หงุดหงิดตั้งแต่เช้า

    เพราะฉะนั้นชีวิตที่ผ่านมาแล้วในอดีต และเราสามารถที่จะเห็นในปัจจุบันชาตินี้ได้ จากตัวเราเอง จากการกระทำของเรา ว่าได้เคยสะสมอะไรมา ถ้าสะสมการที่จะสนใจฟังธรรม ก็รู้ได้ว่าการสนใจของเรา สนใจที่จะศึกษาในแบบไหน ในการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มี หรือว่าศึกษาแบบวิชาการทางโลก เพราะเหตุว่าเราคุ้นเคยกับการศึกษาทางโลก มีตำรา มีคำถาม มีคำตอบ มีการสอบ มีการประเมิน แต่นั่นคือเราศึกษาธรรมเหมือนเราศึกษาวิชาหนึ่ง วิชาใดที่เราเคยศึกษาแล้ว แต่ไม่ใช่ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรม ตามกำลังของการสะสมของเรา

    เพราะฉะนั้น ก็จะสามารถเข้าใจข้อความที่ว่า การศึกษา ๓ อย่าง การศึกษา เพื่อเป็นที่พึ่ง เพราะว่าขณะนี้ เรามีพระธรรมเพื่อที่จะพึ่ง โดยการที่ว่าได้ฟัง และไตร่ตรอง เข้าใจว่าสิ่งที่มีขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร แล้วก็เป็นเราที่สะสมมาทางฝ่ายอกุศลประเภทไหน ถ้ามีการรู้สึก และเข้าใจในสิ่งที่สะสมมา ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรสะสมต่อไป ก็จะมีการสะสมใหม่ นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งเราสามารถที่จะเห็นได้ ว่าการศึกษาของเราขณะนี้ ที่เราจะเป็นบุคคลที่มีปัญญามากน้อยแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ การศึกษานั้นเป็นไปเพื่อเป็นที่พึ่ง ในการที่จะขัดเกลากิเลส นี่คือการศึกษาที่เป็นประโยชน์

    แต่ถ้าศึกษาแบบจับงูพิษข้างหาง ก็จะทำให้มีการสำคัญตนที่กำลังศึกษา ศึกษาด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็มีเรารู้ เราเก่ง เราสามารถ รอบรู้ต่างๆ อันนั้นก็จะทำให้เกิดความสำคัญตน ซึ่งเป็นมานะ

    และการศึกษาที่เป็น ขุนคลัง หรือที่จะรักษาพระศาสนาได้ ก็ต้องไม่ใช่ผู้อื่น นอกจากพระอรหันต์ หมดสิทธิ์กระทำเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส

    เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง เราศึกษาธรรมเพื่ออะไร ปัญญาของเราระดับไหน ศึกษาเพื่อที่จะได้เข้าใจ ในขณะนี้ที่เห็น ว่าหลังจากเห็นแล้ว เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่ขั้นนี้ก็เพียงโดยฟัง จริงๆ แล้วรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ยาก

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเท่านั้นที่รู้ได้ และปัญญาที่ต้องเจริญขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น นี่เป็นปัญญาขั้นฟัง ก็จะทำให้มีความเข้าใจในระดับที่สามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง แต่ก็ต้องตามลำดับขั้นด้วย แต่ให้เห็นความสำคัญ และความต่างของวิบากกับชวนจิต ถ้าเป็นวิบากก็เป็นการรับผลของกรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ชวนะซึ่งเกิดต่อหลังจากเห็นได้ยินแล้ว เป็นเหตุที่จะให้เกิดกรรม แล้วก็จะทำให้เกิดวิบากข้างหน้า แล้วก็ระหว่างที่ยังไม่ได้กระทำทุจริตกรรม ก็จะสะสมเป็นอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งขัดเกลาได้ ไม่ควรจะปล่อยไป โดยที่ว่าเป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ก็ให้เห็นความสำคัญของชวนจิต ว่าแม้ว่าจะเกิด ๗ ขณะ แล้วก็ยังสะสมสืบต่อไปด้วย


    หมายเลข 2706
    21 ธ.ค. 2567