ผู้ที่เจริญอานาปานสติไม่หวั่นไหว
ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อานาปานสังยุตต์ กัปปินสูตร ซึ่งมีข้อความว่า
ณ พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นท่านผู้มีอายุนั้น นั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งอยู่ในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้เห็นความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิเป็นไฉน
เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ
ผู้ที่เจริญอานาปานสติสมาธิแล้ว จะไม่มีความหวั่นไหว หรือความเอนเอียงแห่งกาย หรือแม้ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิต
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
ข้อความต่อไปเหมือนกับในมหาสติปัฏฐาน อานาปานบรรพ จนถึงข้อความที่ว่า
ย่อมสำเหนียกว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจออก หายใจเข้า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี