อานาปานสติ กับ สติปัฏฐาน
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจะเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจะเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจเข้า
ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ถึงแม้ว่าจะเป็นลมหายใจ ก็เป็นแต่เพียงเครื่องระลึกเท่านั้น เป็นส่วนที่ละเอียดที่สุดทีเดียวของกาย เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานถึงแม้ในหมวดของอานาปานบรรพ ไม่ใช่ให้เจริญอย่างสมาธิ แต่ข้อความสำคัญ คือ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
เพราะฉะนั้น โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ให้จดจ้อง เพียงให้ระลึกรู้ลักษณะของกายว่า เป็นกายเท่านั้น แล้วก็ละการยึดถือ ขณะที่พิจารณากายก็รู้สภาพตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะนั้น อย่างลักษณะของเย็นที่กำลังปรากฏ ลักษณะของเย็น ไม่ใช่ตัวตน หมดแล้ว พอลักษณะร้อนปรากฏ หมดอีก ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น เวลาที่พิจารณากาย สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิด ถ้าคิด สติก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คิดว่านามรูปไม่เที่ยง ร่างกายไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน แต่นี่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ ลักษณะเย็น ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ลักษณะแข็งไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ลักษณะอ่อนที่ปรากฏไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน สติกำลังระลึกรู้ลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงคิด
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จงใจจะรู้ที่ลม หรือไม่ใช่ลม แล้วแต่สติจะระลึกรู้นามรูปใดๆ ระลึกได้ทั้งนั้น เมื่อระลึกแล้ว ปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งนั้น