ศึกษาพระธรรมเท่าไรถึงจะพอ
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ศึกษาพระธรรมเท่าไรจึงจะพอ กฎเกณฑ์จะมาอีกแล้ว คือต้องเท่านั้นเท่านี้ หรือต้องจบเล่มนั้นเล่มนี้ ปริจเฉทนั้นปริจเฉทนี้ ตอนนั้นตอนนี้ แต่จะต้องไม่ลืมจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ การฟังพระธรรมเพื่ออะไร แม้แต่การศึกษาธรรมเพื่ออะไร แต่ถ้าถามว่า ศึกษาพระธรรมเท่าไรถึงจะพอ ดูเหมือนว่า จะพยายามศึกษาให้จบเพื่อจะปฏิบัติ พอหรือยังแล้วจะได้ปฏิบัติ แต่นั่นไม่ใช่ความเข้าใจธรรมเลย
เพราะฉะนั้น ต้องตั้งต้นใหม่จริงๆ ว่า ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร ถ้าตอบได้ตรงก็ถูก แต่ถ้าถามว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ ก็ไม่ตรง ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจ เข้าใจอะไร ทุกคนศึกษาเพื่อเข้าใจทั้งนั้น แต่เพื่อเข้าใจอะไร ต้องให้ตรงอีก คือเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจอย่างอื่น บางคนอาจคิดว่า เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีในตำรา แต่นั่นไม่ใช่ความเข้าใจ นั่นเป็นเรื่อง แต่ว่าศึกษาตำราเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ว่าจะศึกษาส่วนใดในพระไตรปิฎก ศึกษาน้อยหรือมากก็ตาม แต่เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพียงเท่านี้ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างนี้จริงๆ หรือยัง กำลังเห็นเป็นอนัตตาอย่างไร กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก กำลังกระทบสัมผัส กำลังสุข กำลังทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ศึกษา คือ ฟังเรื่องของการเห็น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ เพิ่มความเข้าใจในลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีคำถามที่ว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ ใช่ไหมคะ รู้สึกว่า อยากจะพอ คือไม่อยากจะศึกษาต่อไป เพราะคิดว่าพอแล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริงตราบใดที่ทางตายังไม่ได้ปรากฏลักษณะที่เป็นอนัตตา ก็ศึกษาต่อไป ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าสติจะระลึก จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏ จนกว่ากิเลสจะดับ
เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่าเป็นกฎเกณฑ์ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การฟังของแต่ละท่าน อาจจะเคยฟังมาแล้วในอดีตอนันตชาติ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ได้ฟังมามากน้อยเท่าไร และในขณะที่ฟังนั้นเข้าใจเท่าไร และสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่าไร ซึ่งเมื่อได้ฟังอีก ก็เตือนให้สามารถเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ามีปัญญาที่สะสมมาแล้วมาก ก็จะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ
คำตอบ คือ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของการฟัง แต่ก็ต้องรู้เข้าใจว่า ฟัง เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ในตำรา แล้วไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอย่างไร ตรงกับที่ทรงแสดงไว้อย่างไรบ้าง
และในข้อของการปลีกตัวที่จะศึกษา และปฏิบัติธรรมในวันหนึ่งๆ ที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรมอยู่ในขณะนี้ เป็นการปลีกตัวแล้ว ถ้าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ก็เป็นการศึกษา และปฏิบัติธรรมแล้ว
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟัง สติย่อมเกิดได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่าปลีกตัว ศึกษา และปฏิบัติธรรม โดยนัยกลับกันก็คือว่า ขณะใดศึกษา และสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นคือปลีกตัว ไม่จำเป็นต้องคิดว่า มีเวลาจำกัดที่จะต้องปลีกตัว แต่ถ้าเข้าใจความหมายจริงๆ ก็ต้องเข้าใจได้ว่า ขณะใดที่กำลังฟัง และเข้าใจ ขณะนั้นปลีกจากความติด ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ขณะใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมพร้อมทั้งปัญญาน้อมพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ปลีกตัวโดยที่ขณะใดที่ปฏิบัติธรรม ขณะนั้นคือการปลีกตัว