ความเข้าใจตามลำดับขั้น
อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์กรุณาช่วยอธิบายคำว่าบริกรรม เพื่อให้วิปัสสนาญาณคมขึ้น
ท่านอาจารย์ โดยมากเมื่อผ่านแล้วก็จะคิดถึงคำ ตามระดับความคิดความเข้าใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วจะต้องมีการเข้าใจตามลำดับขั้น ยังไม่ถึงตรงนั้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้ตรงนี้บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหมก่อน ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าได้แปลว่าผิด ได้อย่างไร บัญญัติเกิดหรือเปล่า บัญญัติดับหรือเปล่า อุทยัพพยญาณก็คือการประจักษ์การเกิด-ดับ แล้วจะไปประจักษ์การเกิด-ดับของบัญญัติได้อย่างไร เพราะว่าบัญญัติไม่มี ไม่ใช่ปรมัตถธรรมไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป
เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจถูกต้อง ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องตามลำดับขั้นจริงๆ เวลาที่ผ่านพยัญชนะใด ก็สามารถที่จะเข้าถึงอรรถความหมายของคำนั้นได้ อย่างอนิจจัง สภาพที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยง ไตรลักษณะคือลักษณะไม่เที่ยง ทุกขัง ลักษณะ ที่เป็นทุกข์ อนัตตา ก็สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณะ ของอะไร อยู่ดีๆ ไม่มีอะไรเลย แล้วก็จะมีลักษณะลอยๆ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นแม้แต่ไตรลักษณะ ไตรลักษณะของอะไร ของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นมีจริงๆ แล้วก็ดับไป ลักษณะที่เกิด-ดับนั่นแหละเป็นทุกข์ ที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้เลย ใครจะให้สภาพธรรมขณะนี้ที่เกิดแล้วไม่ดับบ้าง ใครทำได้ ใช่ไหม สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดแล้วก็ดับ ลักษณะนั้นถ้าไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในความเกิด-ดับ จะเห็นว่าเป็นทุกข์ไหม เพราะเราก็เพียงแต่ขณะนี้ จิตเกิดแล้วก็ดับ เจตสิกเกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต รูปเกิดแล้วก็ดับ มีอายุเท่ากับจิตเกิด-ดับ ๑๗ ขณะ นี่คือผู้รู้ได้ทรงแสดง แต่ว่าถ้าไม่มีการประจักษ์แจ้งจริงๆ จะเห็น ทุกขลักษณะนี้ไหมว่าเป็นลักษณะของอะไร ก็ต้องเป็นลักษณะของสภาพธรรม ที่ผู้ประจักษ์ก็จะรู้ว่าลักษณะนี้เป็นลักษณะของธรรมทั้งหมดที่เกิด เป็นสามัญลักษณะ ลักษณะของสภาพธรรมทุกประเภทที่เกิดขึ้นต้องดับไป เป็นไตรลักษณะ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะเป็นบัญญัติหรือเปล่า