ชื่อ กับ สภาพธรรมที่เกิด


    อ.ธิดารัตน์ ขออนุญาตถามว่า บุคคลที่ได้อุทยัพพยญาณแล้ว ประจักษ์ลักษณะของไตรลักษณะแล้ว เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว ผู้ที่เคยประจักษ์สภาพธรรมนั้นแล้ว และมีการคิดถึงสภาพธรรมนั้น ตรงนี้หรือเปล่า คิดถึงเรื่องของลักษณะของสภาพธรรม ที่เคยเกิดกับตัวเอง

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าถึงว่าเป็นลักษณะของปรมัตถธรรม เรื่องภาษา นี้ไม่สำคัญเลย เพราะอะไร ทุกคนห้ามคิดได้ไหม ไม่ให้คิดได้ไหม ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ และไม่คิดอีกเลยได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย แต่สามารถที่จะรู้ว่าขณะไหน สภาพธรรมใด เป็นปรมัตถธรรมอะไร เพราะฉะนั้นไม่ไปติดที่ชื่อเลย ใครจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ตามแต่ แต่ว่าลักษณะจริงๆ นั้น ก็คือสภาพนั้นเกิดขึ้น และก็ดับไป

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าย้อนกลับมาถึงขั้นสติปัฏฐาน อย่างบุคคลที่เคยเกิดสติปัฏฐานแล้ว แล้วก็มีการนึกถึงลักษณะของสติปัฏฐานที่เคยเกิด ก็อาจจะเรียกว่าเป็นบัญญัติ ซึ่งเป็นบัญญัติพิเศษ ซึ่งต่างจากบัญญัติซึ่งเรื่องราว แต่เป็นสิ่งที่เขาทรงจำลักษณะของสภาพธรรม นามธรรม รูปธรรม ที่เคยเกิดคือลักษณะสติปัฏฐานของเขาที่เคยเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำอะไรก็ตาม แต่ต้องเข้าใจว่าหมายความว่าอะไร

    อ.อรรณพ ผมคิดว่าประเด็นเรื่องนี้ ประเด็นความเข้าใจถูกหรือความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเข้าใจผิดว่าสติปัฏฐานมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ การที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดเลย เพราะว่าบัญญัติเป็นธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ แต่บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะอารมณ์ของสติปัฏฐานนั้นมี ๔ คือกาย เวทนา จิต และธรรม ไม่มีบัญญัติอยู่เลย ในสติปัฏฐานสูตร แต่ว่าเป็นเพราะความที่สะท้อนให้เห็นความติดข้องในบัญญัติ ซึ่งเราอยู่ในโลกของบัญญัติ จนเราชิน เราติด ซึ่งทำให้แม้ว่าเมื่อจะศึกษาธรรมแล้ว ตอนต้นๆ ดูเหมือนกับเข้าใจถูก แต่ความเป็นตัวตน ความติดในบัญญัติ ก็ทำให้ย้อนกลับมาเข้าใจผิดว่าบัญญัติ ซึ่งติดมาก เราติดในบัญญัติมาก เราถูกครอบงำด้วยชื่อในเรื่องราวต่างๆ ก็เลยทำให้เข้าใจผิด ว่าสามารถเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ เพราะฉะนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และความต่างกันของปัญญาในระดับการฟัง กับระดับการประจักษ์แจ้งที่เป็นวิปัสสนาญาณต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้นถ้าปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมโดยแทงตลอด แล้วเป็นวิปัสสนาญาณในขั้นที่จะรู้ความเกิดดับของสภาพธรรม เป็นสัมมสนญาณ และอุทยัพพยญาณ ถ้าปัญญาไม่ถึงขั้นนั้น แต่เพราะขาดปัญญาในขั้นการฟังที่ถูกต้องด้วย หรือปัญญาในขั้นการฟังในขั้นปริยัติยังไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้ความคิดเตลิดไปถึงปัญญาขั้นสูงที่เป็นวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาปัญญา ที่เป็น สัมมสนญาณ หรืออุทยัพพยญาณ ก็เลยคิดเอาเอง ก็เป็นเรื่องราว เป็นบัญญัติพิเศษ เป็นอะไรอย่างนั้นไป แต่ความจริงแล้ว เริ่มต้นในขณะนี้ด้วยความเข้าใจถูกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรมทั้งหลายทั้งหมด เพื่อจะประมวลให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ก็ผิดทาง ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้เลย อริยสัจจ ข้อที่ ๑ ทุกขอริยสัจจ คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านก็แสดงอยู่แล้วว่าทุกขอริยสัจจ ได้แก่ จิต เว้นโลกุตรจิต เจตสิก ๕๑ เว้นโลภะ และรูปธรรมทั้งหมด มีบัญญัติไหม ทุกขสัจจะก็ไม่มีบัญญัติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะรู้ตามความจริง ก็คือสภาพธรรม ที่มีจริงๆ

    อ.ประเชิญ บางท่านอาจจะแย้งว่า ทำไมในสติปัฏฐานสูตร ถึงเหมือนจะมีบัญญัติใช่ไหม ที่ว่าเป็นลมหายใจก็ดี เป็นอิริยาบทก็ดี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ดี อันนี้จริงๆ แล้ว ถ้าเราดูในอรรถกถา ท่านก็จะแก้ไว้เรียบร้อยแล้วว่าพูดถึงลมหายใจ พูดถึงอิริยาบท หรือพูดถึงเรื่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนังหรือป่าช้า อะไรก็ตาม แต่นั่นท่านมุ่งหมายถึงรูป กายนี้คือรูป ไม่ใช่เป็นบัญญัติ เพราะฉะนั้นมีพยัญชนะอยู่จริงว่าเป็นลมหายใจ เป็นอิริยาบถเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ถ้าไม่มีรูปแล้ว จะบัญญัติลมหายใจ จะบัญญัติอิริยาบท หรือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ได้ อาศัยรูปก็คือเงาของรูปนั้นแหละ พูดถึงเงาของรูปแต่มุ่งหมายถึงรูป โดยนัยยะเข้าใจว่าเป็นอุปจารนัย ที่ท่านกล่าวถึง พูดถึงเหตุใกล้แต่หมายถึงตัวปรมัตถธรรม นั่นเอง เพราะฉะนั้นก็พยัญชนะนี้ก็ต้องดูในอรรถกถาก่อน ที่ท่านขยายว่า กาย บทว่ากาย กายโย หมายถึงมหาภูตรูป และอุปทายรูป ไม่ใช่บัญญัติ


    หมายเลข 2782
    11 ก.ย. 2567