ถ้ายังไม่ประจักษ์ จะรู้ได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงทุกอย่างที่เราได้ฟัง เราจะต้องรู้ว่าถ้าเรายังไม่ถึงระดับนั้น เราสามารถที่จะเข้าใจความหมายนั้นได้หรือเปล่า เช่น ทุกคนมีจิต ถ้าไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของจิต จะนึกถึงจิต นึกอย่างไร ยังไม่ต้องไปถึงการเกิด-ดับ ที่จะเป็นลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์ เพียงแต่ลักษณะของจิต เราก็ได้ฟังมาว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่มีสีสัน ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น แท้ที่จริงแล้วลักษณะนั้นมืดสนิท ถ้าเราไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของจิตขณะนั้น เราจะนึกรู้ขึ้นมาได้ไหมว่าลักษณะของจิตในขณะนี้ เป็นอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะนึกได้เลย เพราะฉะนั้นปัญญาของระดับขั้นฟัง แม้แต่ในเรื่องของเวทนา (ความรู้สึก) ทุกคนก็มีความรู้สึก และความรู้สึกนั้นก็ดับไปแล้ว และถ้ากล่าวว่าที่คิดถึงความรู้สึกอันนั้น เราคิดถึงได้ไหม หรือเราเพียงแต่นึกจำ สภาพที่เรารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น แต่ตัวความรู้สึกจริงๆ ที่เรายังไม่รู้ว่าลักษณะแท้ๆ ของความรู้สึกเป็นนามธรรม
เพราะฉะนั้นลักษณะของนามธรรมนั้นเป็นอย่างไร เราสามารถที่จะระลึกเวทนา หรือความรู้สึกในลักษณะที่เป็นนามธรรมได้ไหม ก็ไม่ได้ หรือแม้แต่รูปใดๆ ก็ตาม ที่เคยเห็นเป็นภาพต่างๆ เราอาจจะนึกถึงเป็นภาพได้เลย พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว อะไรก็ตามแต่ระลึก ขณะนั้นเราระลึกถึงลักษณะของปรมัตถ์ หรือระลึกด้วยความทรงจำในความเป็นสิ่งนั้น แค่นี้เราก็แยกไม่ออก ว่าขณะนั้นที่กำลังคิด เราคิดถึงปรมัตถธรรมจริงๆ หรือว่าคิดถึงบัญญัติ หรือว่าได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของปรมัตถ์นั้นแล้ว จึงมีปรมัตถธรรมนั้นเป็นอารมณ์อีกได้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ก็คงจะได้ยินคำว่า นวัตตัพพารมณ์ อารมณ์ที่ไม่พึงกล่าว แต่จริงๆ การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็ลึกซึ้ง แล้วก็ควรจะเป็นไปตามลำดับขั้นด้วย ถ้าเรายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ แล้วเราไปมีคำมากมายปะปนกัน เราจะแยกไม่ออก ระหว่างบัญญัติกับปรมัตถ์ เช่น การที่จะมีลักษณะของจิตเป็นอารมณ์ ถ้าไม่เคยประจักษ์ลักษณะของจิต เราก็จะมีแต่ลักษณะที่เป็นความคิดนึก ที่เกิดขึ้น พยายามนึกถึงสภาพธรรมนั้นเท่านั้น หรือแม้แต่ลักษณะของรูปที่เกิด-ดับ ถ้าเราไม่ได้ประจักษ์การเกิด-ดับของรูปนั้น และเราพยายามไปคิดถึงเรื่องราวของรูป แต่ว่าลักษณะรูปที่วิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้ง และเกิด-ดับ เราจะคิดไม่ออกเลย
เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจธรรมตามลำดับ ถ้าเข้าใจแล้ว แม้แต่คำที่จะใช้คำว่าบัญญัติพิเศษ หรืออะไรก็ตามแต่ เราจะรู้ว่าหมายความถึงอะไร ขณะไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าพอได้ยินคำนี้ เราก็เอาคำนั้นมาใช้ในตอนที่ไม่ใช่คำนั้น ไม่ใช่ลักษณะของคำนั้นเลย แต่เข้าใจว่านี่คือสิ่งที่เราเข้าใจ