เป็นอย่างนี้กับการมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น


    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ในขณะที่เรารู้สึกไม่พอใจ ก็จะโกรธ หรือถ้าพอใจ ก็จะพอใจอย่างรุนแรง จากการฟังทำให้ความโกรธลดลง เพราะว่ากลัวการสะสมในชวนจิต ในขณะเดียวกันต้องการสะสมกุศลด้วยการให้ทาน รักษาศีล เดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างนี้ จึงขอสนทนา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนี้ แล้วจะให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะว่าทั้งหมดที่ฟังมา ก็คือยังมีความยึดมั่นในความเป็นเรา มองเห็นเลย เราอาจจะไม่รู้สึกเลยว่าเรายึดมั่นแค่ไหน จากความคิด และการกระทำของเรา จะทำให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นไปด้วยความเป็นเราหรือไม่ ที่ต้องการมีกุศลมากๆ ที่ต้องการให้อกุศลลดลง ด้วยความยึดมั่นในความเป็นเราหรือไม่ หรือว่าเป็นความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่ปรากฎ เพราะว่าความเข้าใจถูก ต้องเข้าใจโดยตลอด โดยทั่วจริงๆ จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ไม่ใช่ไปเว้นบางขณะ

    ขณะใดก็ตามที่มีจริงในขณะนี้ สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกได้ทันที โดยที่ว่าไม่มีใครไปกะเกณฑ์หรือบังคับ ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา ว่าแม้สติสัมปชัญญะ จะระลึกแข็ง เดี๋ยวนี้ ก็มีเหตุปัจจัย หรือจะเข้าใจลักษณะของเห็น ขณะนี้ว่าเป็นสภาพหรือเป็นธาตุรู้ จึงเห็นสิ่งที่กำลังปรากฎในขณะนี้ ก็คือสิ่งที่มีจริง และได้ฟังมานาน ค่อยๆ เกิด อาจจะจากความคิด การตรึก แล้วก็การที่สติสัมปชัญญะระลึก แล้วก็หมดไป แล้วก็มีความคิดเรื่องสภาพธรรมแทรกคั่น แล้วก็มีอกุศลบ้าง กุศลบ้าง ทั้งหมดต้องรู้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่เป็นขั้นไตร่ตรองพิจารณา แต่โดยสติสัมปชัญญะ สามารถที่จะรู้ลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะได้ ขณะที่โกรธเกิดแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลย แต่สามารถจะเข้าใจลักษณะนั้นว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นทั้งวันก็คือธรรมทั้งหมด แล้วแต่ว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ถ้าไม่ระลึก ก็เป็นเรา แล้วก็ยังอยากไปเรื่อยๆ ไม่หมดเราไปได้เพียงขั้นฟัง แล้วเมื่อมีเรา ก็ต้องติดในสิ่งที่ดี หลังจากที่รู้ว่าโลภะไม่ดีอย่างไร อยากจะมีน้อยลง ก็ไปติดในกุศล แทนที่จะติดในสิ่งที่เคยติดมาก่อน

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าขณะที่เราคิด ไตร่ตรอง แม้เราจะรู้ลักษณะที่เป็นอกุศลหรือกุศล ก็ยังมีเราที่ไตร่ตรอง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องเริ่มต้นที่จะเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ก็คือรู้ว่าขณะใดสติสัมปชัญญะเกิด ขณะใดหลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้น ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ก็เป็นเราคิดอยู่นั่นแหละ อยากจะให้สติเกิด สติมีลักษณะอย่างไร สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ นามธรรมหรือ รูปธรรม ก็เป็นเรื่องคิด

    ต่อเมื่อใดสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฏฐานรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ขณะนั้นก็จะรู้ความต่างกันของคิด เพียงขั้นพิจารณา กับขั้นที่สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม


    หมายเลข 2797
    16 ธ.ค. 2567